12 ความเชื่อเกี่ยวกับเจาะร่างกายที่คุณควรจะเลิกเชื่อได้แล้ว
การเจาะเป็นหนึ่งในรูปแบบการเสริมแต่งร่างกายที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งชนชาติต่าง ๆ ได้ทำกันมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน แต่ถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ก็ยังมีเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับเจาะร่างกายอยู่มาก ซึ่งการขาดความเข้าใจนี้อาจนำไปสู่ปัญหาและเรื่องยุ่งยากเอาได้
ชีวิตสดใสจึงตัดสินใจที่จะมาหักล้างเหล่าความเชื่อที่แพร่หลายที่สุด เพื่อที่คุณจะได้เพลิดเพลินกับการเจาะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่แสนจะน่าดึงดูด
1. ปืนเจาะหูดีกว่าเข็ม
การเจาะติ่งหูด้วยปืนเจาะเป็นหนึ่งในรูปแบบการเจาะร่างกายที่ได้รับความนิยมที่สุดและอันตรายที่สุด ซึ่งมีเหตุผลด้วยกันดังนี้ :
- เลือดอาจไปติดบนตัวอุปกรณ์ในระหว่างการเจาะ ซึ่งปืนเจาะพลาสติกนั้นไม่สามารถที่จะแยกชิ้นส่วนหรือนำไปต้มในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อได้ จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออันตรายอย่างไวรัสตับอักเสบ
- ช่างจะใช้ต่างหูที่มีความแหลมในการเจาะหูด้วยปืน ซึ่งต่างกันกับเข็มกลวงแบบพิเศษตรงที่ต่างหูจะฉีกผ่านเนื้อเยื่อของติ่งหูไปตรง ๆ ทำให้แผลใช้เวลาหายนานกว่า
- เมื่อใช้ปืนเจาะ หูจะโดนบีบ ซึ่งมีแต่จะเพิ่มโอกาสบาดเจ็บ และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง การเจาะหูให้ได้รูที่ถูกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะมันมีโอกาสสูงที่จะเจาะหูเบี้ยว
2. พอเจาะหูแล้ว คุณจะต้องใส่ต่างหูที่ทำจากทอง เงิน หรือสแตนเลสเกรดเครื่องมือแพทย์เอาไว้
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อยอดนิยมซึ่งสามารถนำไปสู่การเป็นผื่นแพ้ได้
- การหาทองคุณภาพดี ๆ นั้นเป็นเรื่องยาก จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้คนถึงเลือกจะซื้อทองแบบที่ถูกกว่าซึ่งมีส่วนผสมของนิกเกิล ซึ่งเชื่อกันว่านิกเกิลก่อให้เกิดอาการแพ้
- โลหะสแตนเลสไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเข็มเจาะหูถึงทำจากสแตนเลส แต่ก็ไม่ใช่ว่าสแตนเลสทุกประเภทจะเหมาะแก่การใส่ในช่วงรักษาแผล คุณต้องใช้ชนิดที่ที่ไม่มีการผสมแร่อื่นเพิ่มซึ่งหาได้ยาก
- สำหรับการเจาะร่างกายครั้งแรก แนะนำว่าให้เลือกวัสดุที่ไม่ทำความระคายเคืองกับผิว ยกตัวอย่างเช่น ไทเทเนียม (ซึ่งถูกใช้ในการทำแขนขาเทียมและการปลูกฟัน) ที่น้ำหนักเบาและปลอดภัย
3. ใส่ต่างหูแบบไหนก็ได้กับรอยเจาะใหม่
ในความเป็นจริงแล้วผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จากร้านจิวเวลรี่มักจะไม่ดีต่อผิวหนังที่โดนเจาะใหม่ๆ
- ต่างหูมักจะมีเกลียวนอกอันเป็นแหล่งสะสมฝุ่นผงจำนวนไม่น้อย ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้
- ผลิตภัณฑ์จิวเวลรี่ที่ทำมาสำหรับการเจาะร่างกายโดยเฉพาะจะเจียผิวมาดีกว่าและเอาเกลียวไว้ด้านใน ต่างหูแบบดังกล่าว แม้จะใส่ยากกว่า แต่แผลเจาะจะหายเร็วกว่า นอกจากนี้ยังสามารถเลือกความยาวที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงอาการบวม (ที่มักเกิดหลังการเจาะ) ได้
4. ควรขยับต่างหูบ่อย ๆ
นี่เป็นหนึ่งในคำแนะนำที่แย่ที่สุดที่คุณจะให้กับใครสักคนที่ตัดสินใจจะไปเจาะหูเลย
- การขยับต่างหูเป็นประจำมีแต่จะทำให้แผลแย่ลงและอาจใช้เวลารักษานานขึ้น นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้มีประสบการณ์ด้านการเจาะถึงไม่แนะนำให้ใส่ห่วงในจมูกทันที: เพราะมันเคลื่อนง่ายกว่าจิวแบบอื่น ๆ
- ถ้าคุณดูแลแผลเจาะดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพื่อดูแลมันอีก
5. ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นั้นดีที่สุด
แม้จะมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด
- การที่มันเป็นฟองเมื่อโดนแผลนั้นมีส่วนช่วยให้สิ่งสกปรกหลุดออกไปจากแผล แต่ว่า นักวิทยาศาสตร์ยังคงทำการวิจัยอยู่ว่าไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นั้นทำลายเซลล์เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ช่วยในการรักษาแผลหรือไม่ ซึ่งผลการศึกษานั้นก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจน
- นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ค่อยมั่นใจเกี่ยวกับคุณสมบัติฆ่าเชื้อของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เท่าใดนัก องค์การอนามัยจัดให้สารระงับเชื้อมีเพียง 3 อย่างเท่านั้น คือ คอลเฮกซิดีน เอธานอล และโพวิโดน-ไอโอดีน ซึ่งไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์นั้นไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว
- มีเพียงคลอเฮกซิดีนเท่านั้นที่ใช้ได้กับแผลเจาะใหม่ มันถูกใช้โดยทันตแพทย์ เพราะฉะนั้นคุณเองก็ใช้ได้เหมือนกัน แต่คุณควรรู้ไว้ว่าฟันของคุณอาจจะเหลืองขึ้นมาเล็กน้อยถ้าคุณใช้มันในปาก แต่มันจะจางไปเองตามเวลา
6. เรื่องที่ว่าการเจาะนั้นเจ็บหรือไม่เจ็บ
ทั้ง “เจ็บ” และ “ไม่เจ็บ” ต่างก็เป็นความเชื่อ เพราะความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ก็มีแผนภาพแสดงระดับความเจ็บปวดสำหรับการเจาะร่างกายตามที่ต่าง ๆ อยู่เช่นกัน
- จุดที่เจ็บน้อยที่สุดคือติ่งหูกับสะดือ
- จุดที่เจ็บขึ้นมามากกว่าในการเจาะคือคิ้ว ริมฝีปาก ลิ้น และจมูก
- อีกบริเวณที่เจ็บที่สุด คือการเจาะผ่านกระดูกอ่อนซึ่งต้องใช้ความพยายามมากพอสมควร ซึ่งนั่นก็คือส่วนใบหูทั้งหมดยกเว้นติ่งหู
- และจุดที่เจ็บมากที่สุดในการเจาะก็คือบริเวณของลับของคน
7. พอเอาต่างหูออก รอยที่เจาะจะหายไปเอง
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อยอดนิยม แต่ละคนมีความสามารถในการรักษาตัวเองที่ต่างกันไป
- บางคนเอาห่วงสะดือออก แล้วพอฤดูร้อนปีถัดไปก็ตันจนต้องเจาะใหม่แล้ว ทว่ารูของบางคนอาจยังอยู่ไปได้อีก 3 ปี
- ถ้าหากคุณจะเลิกเจาะ ให้ใช้ครีมฟื้นฟูผิวเสีย แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่ามันอาจจะไม่ได้ช่วยไปเสียทุกครั้ง เพราะบางคนก็ต้องไปให้ศัลยแพทย์เย็บปิดให้
8. มีแต่วัยรุ่นที่เจาะร่างกาย
สำหรับหลาย ๆ คน แล้ว โลกของการเจาะนั้นยังคงข้องเกี่ยวกับวัยรุ่นหนุ่มสาวอยู่
- มีบางสาขาอาชีพที่คนที่เจาะร่างกายจะหางานได้ยาก ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเพราะการบริหารของบริษัทที่เป็นอนุรักษ์นิยม มันแค่เพราะลูกค้าส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุซึ่งมีค่านิยมในแง่ลบต่อการเจาะร่างกาย
- อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่น่าสนใจซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2014 โดยขอให้นักศึกษามหาวิทยาลัย 194 ราย และผู้ใหญ่วัยทำงาน 95 ราย พูดอะไรสักอย่างเกี่ยวกับผู้สมัครงานที่กำหนดให้ ครึ่งหนึ่งของผู้ร่วมทดลองได้รับเรซูเม่ของผู้สมัครงานที่ไม่ได้เจาะส่วนใดบนใบหน้า และอีกครึ่งหนึ่งได้เรซูเม่ของคนที่เจาะปากและคิ้ว ผู้สมัครงานที่เจาะใบหน้านั้นได้คะแนนต่ำกว่าในเรื่องทักษะความเป็นมืออาชีพ การสื่อสาร และจรรยาบรรณ แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือผู้เข้าร่วมในงานวิจัยที่อายุน้อยนั้นมีความแข็งกร้าวต่อผู้ที่เจาะร่างกายกว่าผู้ร่วมการวิจัยที่อายุเยอะกว่า
9. คนที่เจาะลิ้นจะพูดไม่ชัด
- แน่นอนว่าหลังจากการเจาะแล้วไม่มีทางเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายปากได้: มันต้องใช้เวลานิดหน่อยให้เราได้คุ้นชินกับสิ่งแปลกปลอมในปาก แต่ไม่ห่วงว่ามันจะเป็นปัญหาเรื้อรัง งานวิจัยเผยว่าไม่มีข้อแตกต่างที่ชัดเจนในเรื่องของทักษะการออกเสียงระหว่างคนที่เจาะลิ้นและคนที่ไม่ได้เจาะ
- สิ่งที่อันตรายที่สุดของการเจาะประเภทนี้คือความเสียหายต่อฟัน ถ้าฟันมีความเสี่ยงจะเสียหายแล้วล่ะก็ การไม่เจาะก็จะดีกว่า ซึ่งแผลบนลิ้นก็อาจจะติดเชื้อได้ และแม้ว่าฟันของคุณจะแข็งแรงก็ตาม มันก็เป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องไม่เอาฟันไปแตะกับจิว นอกจากนี้ทันตแพทย์ยังแนะนำให้ถอดจิวจากลิ้นในช่วงกลางคืนอีกด้วย
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจาะบางคนจะไม่เจาะปลายลิ้นในแนวขวาง หรือที่เรียกกันว่า “สเนคอาย” ซึ่งพวกเขากล่าวว่า การเจาะลักษณะดังกล่าวอาจนำไปสู่ไปสู่ปัญหาในการออกเสียงเพราะกล้ามเนื้อจำนวนมากนั้นจะมายุ่งกับบริเวณนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อฟันได้
10. เราสามารถใส่จิวสะดือระหว่างท้องได้
ขึ้นอยู่กับว่าสะดือมีลักษณะแบบใดและรู้สึกอย่างไร
- คุณสามารถใส่จิวต่อไปได้ถ้ามันไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัว ไม่แนะนำให้ใส่จิวที่ทำจากโลหะ แต่ถ้าเป็นจิวที่ทำจากโพลีเมอร์ล่ะก็โอเค เพราะจิวประเภทนี้จะปรับไปกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่ต้องระวังเรื่องวัสดุที่คุณใช้ด้วย
- หากว่าผิวหนังนั้นค่อนข้างตึง แนะนำว่าให้เอาออก ต่อให้จะเป็นจิวที่เล็กที่สุดก็ตาม
11. การเจาะหัวนมไม่เป็นปัญหากับการให้นมบุตร
ในมุมหนึ่ง ผู้หญิงหลาย ๆ คนที่เจาะบนหน้าอกสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ ในขณะที่อีกมุมหนึ่งก็มีความเสี่ยงบางประการ และมีสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เอาไว้
- การเจาะหัวนมสามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาท ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาในการขับน้ำนมได้
- ผู้เชี่ยวชาญห้ามไม่ให้ผู้หญิงเจาะร่างกายระหว่างตั้งครรภ์และช่วงให้นมบุตร เพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวนั้นไม่เหมาะแก่การเจาะร่างกาย — หัวนมจะไวต่อความรู้สึกมาก อีกทั้งความระคายเคืองอาจทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนดได้ทุกเวลา และถ้าคุณจำเป็นจะต้องใช้ยารักษาในกรณีที่เกิดเรื่องยุ่งยากอะไรขึ้นล่ะก็ จำนวนตัวยาที่สามารถใช้ได้ก็จะมีน้อยไปด้วย
- อย่าเจาะร่างกายถ้าคุณวางแผนว่าจะตั้งครรภ์ในเร็ว ๆ นี้ กระบวนการรักษาจะใช้เวลาราว ๆ 6 ถึง 12 เดือน และยิ่งเวลาตอนเจาะกับตอนคลอดลูกห่างกันเท่าไร ความเสี่ยงก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น
- นอกจากนี้ อย่าเพิ่งเจาะทันทีหลังจากลูกหย่านมจะดีกว่า คุณควรรอ 3-4 เดือนให้ระดับฮอร์โมนกลับไปเป็นปรกติเหมือนช่วงก่อนตั้งครรภ์
- ถ้าคุณเจาะเอาไว้ก่อนคลอดและแผลนั้นได้สมานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้หญิงถอดจิวทั้งหมดระหว่างช่วงให้นมบุตรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใด ๆ ทว่า คุณแม่บางคนก็เลือกที่จะถอดเฉพาะแค่ช่วงที่ต้องให้นมจริง ๆ เท่านั้น ซึ่งในกรณีนี้ขอให้คุณแน่ใจว่ามือและจิวของคุณนั้นสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้หัวนมติดเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้
- ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการเจาะรูบนหัวนมมักทำให้ร่างกายขับนมออกมามากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่มั่นใจว่ามันเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดีกันแน่ แต่อย่างไรก็ตาม คุณควรไปปรึกษากับผู้ให้คำแนะนำเรื่องการให้นมบุตรจะดีกว่า เพราะพวกเขาจะแนะนำคุณให้จัดท่าให้นมที่ดีที่สุดเพื่อนที่เด็กจะได้ไม่ได้รับนมเยอะเกินไป
12. ยิ่งเจาะแต่เด็กยิ่งดี
คำถามที่ว่าเด็กควรจะเจาะหูหรือไม่นั้นมีเพียงผู้ปกครองเท่านั้นที่ตอบได้ บางคนคิดว่ามันดีกว่าที่จะเจาะในขณะที่ยังเด็กเพื่อไม่ให้เด็กจำตอนเจาะที่แสนไม่พิศมัยเอาได้ ในขณะที่บางคนก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่เด็กที่โตแล้วเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้
นี่คือสิ่งที่คุณพึงพิจารณาไม่ว่าคุณจะเชื่อแบบใดก็ตาม
- อย่างแรกเลย คุณต้องเข้าใจว่ามันยากมากที่จะสอนเด็กว่าการดึง ขยับ และแตะต่างหูไม่ใช่สิ่งที่ดี เด็ก ๆ อาจทำให้ตัวเองเจ็บตัวโดยไม่ตั้งใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับต่างหูที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเด็ก ๆ อาจเผลอฉีกติ่งหูตัวเองได้ถ้าพวกเขาดึงมัน และจะใช้เวลานานมากกว่าแผลจะหาย
- ประการที่สอง อย่าลืมว่าของเล็ก ๆ แบบนั้นอาจจะเข้าไปอยู่ในปากหรือจมูกเด็ก ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงได้
- ประการสุดท้าย ขอให้พิจารณาเรื่องความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเจาะเบี้ยว เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังยากที่จะไม่สะดุ้งระหว่างการเจาะ กับเด็กคงไม่ต้องพูดถึง ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะเจาะรูออกมาผิดที่ก็ได้ อีกทั้งในช่วงวัยนี้ร่างกายยังมีการเจริญเติบโตอยู่ตลอดและมีความเสี่ยงที่รูที่เจาะดีแล้วอาจจะเคลื่อน ซึ่งเด็กจะต้องเจาะใหม่เมื่อโตขึ้นหรือใส่ต่างหูแบบที่ทั้งสองข้างไม่เท่ากันแทน
คุณคิดว่าส่วนใดของร่างกายที่เหมาะกับเจาะมากที่สุด ? แล้วตรงไหนที่คุณไม่มีวันจะเจาะมัน ? บอกให้เรารู้ในช่องคอมเมนต์ข้างล่างนี้เลย