ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

10 สิ่งที่ลูก ๆ ทุกคนควรจะได้ยินจากพ่อแม่เพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตัวของพวกเขาเอง

ผู้ปกครองอย่างเราหวังว่าในอนาคตลูกของเราจะมีความรับผิดชอบ ประสบความสำเร็จ และเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข วัยเด็กเป็นเวลาที่สมบูรณ์แบบในการเริ่มสนับสนุนและให้เครื่องมือที่จำเป็นแก่พวกเขา เพื่อที่สุดท้ายแล้วพวกเขาจะประสบความสำเร็จในทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้ โดยการเสริมสร้างการมองเห็นคุณค่าของตัวเอง การช่วยให้พวกเขาเชื่อมั่นในตัวเองและจัดการกับอารมณ์ได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้พร้อมเมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับ “โลกของผู้ใหญ่” ด้วยความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยว

ชีวิตสดใสเห็นด้วยกับประโยคที่ช่วยเสริมสร้างความคิดในแง่บวกอันทรงพลังที่สุด ที่คุณสามารถใช้กับลูกของคุณในชีวิตประจำวัน ในการช่วยพัฒนาให้พวกเขามองเห็นคุณค่าอันงดงามในตัวเองได้

1. “ลูกไว้ใจเราได้เลย” หรือ “พ่อ/แม่อยู่ที่นี่เพื่อช่วยลูก”

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเห็นว่าเจ้าตัวเล็กของคุณสงสัยในตัวเองหรือต้องการทำอะไรบางอย่าง แต่พวกเขาไม่มีความกล้าพอที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่รู้วิธีการหรือเพราะว่ากลัว ย้ำกับพวกเขาว่าคุณอยู่ตรงนั้นเพื่อช่วยเหลือ ทำให้พวกเขารู้ว่าพึ่งพาคุณได้และยังมีแรงสนับสนุนและความช่วยเหลือจากคุณหากพวกเขาต้องการ แค่รู้ว่าคุณจะอยู่ช่วย ก็จะทำให้พวกเขากล้าลองและอาจจะประสบความสำเร็จโดยที่คุณไม่ต้องช่วยเลยก็ได้

นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงมันถึงสำคัญกับเด็กเป็นอย่างมาก ในการรู้สึกว่าพวกเขาพึ่งพาพ่อแม่ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขามีปัญหา ประโยคประเภทนี้นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันและความเชื่อใจระหว่างพ่อแม่และลูกแล้ว ยังทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นใจเป็นอย่างมาก ประโยคเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาพ้นจากความกลัว เมื่อรู้ว่าถ้ามี “อะไรที่ไม่ดี” เกิดขึ้น พ่อและแม่จะอยู่ตรงนั้นเพื่อปกป้องและช่วยเหลือพวกเขา

การเรียนรู้และฝึกทัศนคติเหล่านี้ตั้งแต่วัยทารก จะทำให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการของพวกเขาง่ายขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเขาต้องเริ่มจัดการกับปัญหาชีวิตในสถานการณ์ที่จริงจังมากขึ้น

2. “เล่าให้พ่อ/แม่ฟังซิ” หรือ “พ่อ/แม่กำลังฟังอยู่”

ประโยคนี้ใกล้เคียงกับประโยคก่อนหน้า เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า “พ่อ/แม่อยู่ตรงนี้” ถ้าเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาอยากบอกอะไรบางอย่างกับเรา แต่เราไม่มีเวลาฟัง นั่นเป็นข้อความที่ชัดเจนว่า “พ่อ/แม่ไม่ได้อยู่ตรงนี้” “พ่อ/แม่ไม่มีเวลาให้ลูก” ในช่วงเวลาที่ลูกต้องการเล่าอะไรให้คุณฟัง นั่นเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการทำให้พวกเขาเห็นว่าคุณอยู่ตรงนั้นจริง ๆ

หยุดทำอะไรก็ตามที่คุณกำลังทำอยู่ สำหรับคุณแล้วมันอาจจะเป็นเวลาแค่ไม่กี่นาที แต่สำหรับลูกของคุณ มันหมายความว่าคุณเป็นห่วงและพวกเขาไว้ใจคุณได้จริง ๆ ฟังอย่างตั้งใจและอย่าเห็นว่าเรื่องของพวกเขาเป็นเรื่องตลกหรือด้อยค่าความสำคัญลง ถ้าพวกเขาต้องการเล่าให้คุณฟัง นั่นเป็นเพราะมันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเขา จงอย่าขัด ถ้าคุณอยากแสดงความคิดเห็นของคุณหรือต้องการเพิ่มเติมอะไร รอให้พวกเขาพูดจบก่อน

สิ่งที่คุณใช้เพื่อแสดงความสนใจและความตื่นเต้นในเรื่องที่พวกเขาบอกคุณ: “จริงหรอ” “ว้าว” “น่าทึ่ง” เด็ก ๆ ชอบปฏิกิริยาเหล่านี้มาก นี่เป็นวิธีการอันยอดเยี่ยมในการสร้างการสื่อสารที่ดีกับลูกของคุณ และสร้างความมั่นใจในตัวคุณให้กับพวกเขาด้วย หลังจากที่พวกเขาโตขึ้น พวกเขาจะอยากแบ่งปันประสบการณ์และข้อกังวลของพวกเขากับคุณไปเรื่อย ๆ

3. “พ่อ/แม่รักลูกมาก ๆ” หรือง่าย ๆ เลยก็ “พ่อ/แม่รักลูก”

เราใส่ใจ ดูแล จ่ายค่าเล่าเรียน จัดแจงเวลาหลังเลิกเรียน ซื้อของทุกอย่างที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้และหลับไม่ลงเมื่อเป็นห่วงพวกเขา ทั้งหมดนี้เป็นเพราะสาเหตุง่าย ๆ นั่นก็เพราะเรารักพวกเขา และพวกเขาคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กแล้วการจะเข้าใจความหมายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่า นอกจากการแสดงความรักผ่านการกระทำแล้ว เราควรจะแสดงผ่านคำพูดด้วย

2 ประโยคนี้มีพลังมหาศาล และการเสริมพลังบวกมีคุณประโยชน์หลายประการ:

  • ช่วยทำให้ความผูกพันระหว่างพ่อแม่และลูกมีความแข็งแรงมากขึ้น และช่วยให้การสื่อสารในครอบครัวดียิ่งขึ้นด้วย
  • ทำให้เด็กมีความมั่นใจและมีความสงบในจิตใจ เนื่องจากพวกเขารู้สึกถูกรอบล้อมด้วยความรัก
  • ช่วยเสริมความนับถือตัวเองและช่วยให้พวกเขารักและยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น
  • ทำให้พวกเขาเติบโตอย่างมีความสุข ถ่ายทอดและมอบความสุขนั้นให้กับสิ่งรอบตัว
  • ช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์และความสัมพันธ์ต่อความรู้สึกของพวกเขา
  • เด็กที่รู้สึกเป็นที่รักจะเป็นคนคิดบวกและมองโลกในแง่ดี
  • พวกเขาจะแสดงความสุภาพและเคารพคนอื่น

เพราะฉะนั้นจงหาโอกาสที่จะบอกลูกของคุณ เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำได้ ว่าคุณรักเขาขนาดไหนในขณะที่กอดและหอมไปด้วย

4. “ลูกให้อภัยพ่อ/แม่ได้ไหม”

ในฐานะมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ เราทุกคนล้วนมีข้อผิดพลาด รวมไปถึงพ่อแม่ด้วยและการสอนลูกของเราให้ยอมรับและรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดของตัวเอง ไม่น่าจะมีวิธีใดที่ดีไปกว่าการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เมื่อพวกเขาเห็นว่าเราผู้ซึ่งเป็นยอดมนุษย์ที่เขาชื่นชม วางอีโก้ลงและขอให้พวกเขายกโทษให้ เขาจะเห็นว่ามันสำคัญอย่างไร

หลายครั้งนอกจากเราจะไม่ขอให้ยกโทษให้แล้วแต่เรายังบังคับให้ลูกของเราทำด้วย ในสถานการณ์แบบนี้ เราได้ส่งข้อความที่ชวนสับสนให้กับลูก แทนที่จะส่งเสริมความเห็นอกเห็นใจให้กับคนอื่น การบังคับให้พวกเขาทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าเรากำลังทำให้เขากลายเป็นเหยื่อ เป็นสาเหตุให้พวกเขามุ่งความสนใจไปยังความไม่สบายใจส่วนตัวไม่ใช่ผู้รับเคราะห์จริง ๆ

ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดว่าทำผิด อย่างการขึ้นเสียงดังเกินไป อย่าลงโทษอย่างไม่สมควรหรือไม่ยุติธรรมต่อด้านใดก็ตามของลูก ให้ขอโทษเขาอย่างจริงใจ โดยปรับให้เหมาะสมกับอายุของพวกเขา อธิบายว่าคุณผิดตรงไหน คุณรู้สึกยังไงและเรียนรู้อะไรบ้างจากมัน เพื่อที่ลูกของคุณจะได้เข้าใจและทำตามได้เช่นกัน

5. “พ่อ/แม่เชื่อในตัวลูก” หรือ “พ่อ/แม่ไว้ใจลูก”

เมื่อเรายังเด็ก การที่รู้ว่าแม่และพ่อไว้ใจและเชื่อมั่นในตัวเรา ทำให้เรารู้สึกราวกับมีเวทมนตร์และพลังวิเศษ เพราะพวกเขารู้ทุกอย่าง และถึงแม้ว่าสิ่งที่เราอยากทำจะออกมาผิดพลาดในครั้งแรก การได้ทำต่อไปโดยยังคงได้รับความเชื่อใจจากพวกเขาจะช่วยให้เราไม่ฉุนเฉียวและพยายามอีกครั้ง

แต่ไม่ใช่การโกหกลูกและบอกพวกเขาอยู่ตลอดเวลาว่าเราไว้ใจเขาให้ทำอะไรก็ได้ ควรรู้ว่าในโอกาสไหนที่พวกเขาไม่สามารถทำได้จริง ๆ อาจจะเป็นเพราะว่าสิ่งที่ทำไม่สอดคล้องกับอายุของพวกเขา พวกเขายังไม่พร้อมหรือมันเป็นไปไม่ได้จริง ๆ (อย่างการทำให้วัตถุบินหรือขยับด้วยความคิด ท่ามกลางความคิดในจินตนาการของเด็ก ๆ) ความมั่นใจของเราต้องมีความเป็นจริงและมีเหตุผล

ในการเชื่อใจพวกเขา คุณจะต้องมีส่วนช่วยในการพัฒนาความมั่นใจในตัวเองของพวกเขาด้วย พวกเขาจะเชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้ (ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการมีความสามารถที่จะทำได้) พวกเขาจะไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ และจะมองหาทางเลือกและวิธีการที่จะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายของพวกเขา เพราะว่าพวกเขามั่นใจในตัวเองและเชื่อมั่นว่าจะทำให้สำเร็จได้

6. “พ่อ/แม่เข้าใจลูก” หรือ “พ่อ/แม่เข้าใจว่าลูกรู้สึกยังไง”

ประโยคนี้สะท้อนถึงความเห็นอกเห็นใจและความเชื่อมโยงกับความรู้สึกของลูกของเรา และทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาสามารถเชื่อถือความเข้าใจและแรงสนับสนุนของเราได้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่รู้ดีว่าการที่มีคนเข้าใจจะทำให้เรารู้สึกได้รับการสนับสนุน, รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและใจเย็นลง

เมื่อเด็กรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจเขา พวกเขาจะฉุนเฉียว และความรู้สึกนี้สามารถพัฒนาไปเป็นความรู้สึกเชิงลบมาก ๆ ได้ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าว, ความโกรธเคืองอย่างไม่มีสาเหตุ, ควบคุมการร้องไห้ไม่ได้และการกรีดร้อง ท่ามกลางพฤติกรรมเหล่านี้ นี่คือวิธีการแสดงออกถึงความไม่เข้าใจทั้งหมดที่พวกเขาเก็บไว้ข้างในอย่างสิ้นหวัง

การพูดว่า “พ่อ/แม่เข้าใจลูก” อย่างเรียบง่ายและซื่อตรงในเวลาที่เหมาะสมสามารถสร้างความแตกต่างได้ เราสามารถทำให้ประโยคนี้ดูมีพลังมากขึ้น โดยการเล่าเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราเคยอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายหรือเหมือนกันกับพวกเขา วิธีการนี้จะทำให้พวกเขาเห็นว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง และเรื่องราวดี ๆ และแย่ก็เกิดขึ้นกับทุกคนรวมถึงแม่และพ่อด้วย

7. “ร้องไห้ได้เท่าที่ลูกอยากร้องเลย”

การร้องไห้เป็นกระบวนการที่เป็นปกติตามธรรมชาติ ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ทำในบางสถานการณ์ มันไม่ใช่การกระทำที่เลือกได้ว่าจะร้องไม่ร้องตอนไหน มันแค่เกิดขึ้นและมันไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เมื่อเราเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย เราก็จะหยุดร้องไห้ การบอกให้เด็กหยุดร้องไห้เป็นการบอกให้พวกเขากดทับอารมณ์ของตัวเองไว้ และด้วยวิธีนั้นพวกเขาจะไม่ได้เรียนรู้วิธีที่จะจัดการกับมัน

ประโยคทั่วไปอย่าง “เข้มแข็งเข้าไว้” “ผู้ชายไม่ร้องไห้” “ไม่เป็นไรหรอก” ถึงแม้ว่าจะพูดด้วยเจตนาที่ดีเพื่อช่วยให้เจ้าตัวเล็กหายเศร้า แต่มันก็มีผลกระทบเชิงลบ สองประโยคแรกเป็นเรื่องโกหก: เพราะทั้งคนที่เข้มแข็งและผู้ชายต่างก็ร้องไห้ และนั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเข้มแข็งน้อยลงหรือเป็นผู้ชายน้อยลง ใช่แล้ว บางครั้งก็มีอะไรเกิดขึ้นเช่นกัน เพราะถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เด็กก็คงไม่ร้อง แต่การบอกว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย” ในตอนที่พวกเขากำลังรู้สึกในทางตรงกันข้ามเป็นการลดทอนความรู้สึกของพวกเขา

ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณทำได้คือการปล่อยให้พวกเขาได้ระบายออกมา ฟังพวกเขาและให้การสนับสนุน หาทางช่วยพวกเขาเพื่อที่จะเข้าใจว่าพวกเขารู้สึกอะไรอยู่ด้วยวิธีการที่ดีและสร้างสรรค์ อารมณ์และความรู้สึกซึ่งเป็นทั้งด้านบวกและด้านลบ จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปตลอดชีวิตของพวกเขา

8. “พ่อ/แม่ภูมิใจในตัวลูก”

นี่คืออีกประโยคที่ทรงพลังที่พ่อแม่ควรจะใช้บ่อย ๆ กับลูก แต่ให้ใช้ด้วยความตระหนักและใช้ในสถานการณ์ที่ควรได้รับจริง ๆ เพื่อยกย่องช่วงเวลาแห่งความพยายามและการพัฒนาตัวเองของลูก อย่าเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่พวกเขาได้รับ แต่ให้เน้นไปที่สิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จ, ขั้นตอนที่ได้ผ่านมา, อุปสรรคที่เขาเอาชนะได้และข้อเท็จจริงที่ว่าเขาไม่ยอมแพ้ นั่นคือทัศนคติที่ควรได้รับการยกย่องมากกว่าผลลัพธ์ที่พวกเขาได้รับ

มันเป็นเรื่องที่ง่ายและปกติที่จะแสดงความภูมิใจต่อลูกของเราต่อหน้าบุคคลอื่น “ลูกชายของฉันเดินได้แล้ว” “ลูกสาวของฉันได้รับเลือกเป็นหัวหน้าห้อง” “ลูกชายของฉันสอบผ่านและได้เกรดดีมาก” ความสำเร็จของพวกเขาไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ทำให้เราดีใจสุด ๆ จนอยากจะเล่าให้คนทั้งโลกรู้ แต่เราต้องอย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเล่าให้คนอื่นฟังตอนที่ลูกอยู่ด้วย เพื่อที่พวกเขาจะได้รู้ว่าเราภูมิใจแค่ไหน

และก็เหมือนกับทุกอย่าง สิ่งดี ๆ ที่มากเกินไปก็อาจจบไม่สวยได้ และคำชื่นชมก็ไม่ต่างกัน คำชมควรจะมีเหตุผลและถูกพูดในเวลาที่เหมาะสมเสมอ เพื่อทำให้ลูกของคุณมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นและเสริมสร้างความนับถือตัวเองในเชิงบวก ถึงอย่างนั้นการชื่นชมที่มากเกินไปอย่างไม่มีเหตุผลก็จะทำให้ลูกของคุณกลายเป็นคนอวดดีและจะทำตัวดีแค่เพราะต้องการรางวัลก็ได้

9. “ความคิดเห็นของลูกสำคัญกับพ่อ/แม่”

ชัดเจนว่าเราต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกของเราเสมอ ถึงแม้ว่าบางครั้งพวกเขาจะไม่เข้าใจหรือไม่ชอบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า “พวกเขาต้องทำตามที่เราบอก” และเราก็ไม่ปล่อยให้พวกเขาพูดหรือไม่ฟังความคิดเห็นของพวกเขา การรวมความคิดเห็นของเจ้าตัวเล็กเข้าไปในการตัดสินใจของครอบครัวด้วย ช่วยเสริมสร้างความนับถือตัวเอง และทำให้พวกเขามีความสุขและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของพวกเขาจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เขาจะเริ่มพัฒนาศักยภาพนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ถ้าแม่คอยเอาแต่บอกว่าเราควรทำอะไรโดยที่ไม่ปล่อยให้เราคิดหรือแสดงความคิดเห็น วันที่แม่จากไป เราก็จะไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ดังนั้นเมื่อมีโอกาสให้ถามความคิดเห็นของลูก ตัวอย่างเช่น ถามพวกเขาว่าอยากทำอะไรในวันหยุด, จะให้อะไรกับสมาชิกครอบครัวในวันเกิด หรือจะดูหนังเรื่องอะไร หรือในสถานการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายกันนี้

นอกจากการตั้งใจฟังแล้ว เรายังชวนให้พวกเขาถกเถียงมุมมองความคิดและให้เหตุผลว่าทำไมจึงคิดว่าการทำแบบนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การปล่อยให้พวกเขาได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับตัวของพวกเขาเอง แต่ยังมีประโยชน์กับพ่อแม่ด้วย เนื่องจากมันจะทำให้รู้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับบุคลิกภาพของลูก

10. “ขอบคุณมาก ๆ นะจ๊ะ”

อย่างที่พูดกันว่า “จงขอบคุณสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ” และไม่มีวิธีการไหนที่จะสอนให้ลูกรู้จักชื่นชมการกระทำของคนอื่นและรู้จักขอบคุณได้ดีไปกว่าการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เราไม่ได้หมายถึงการขอบคุณทั่วๆ ไปอย่าง “ขอบคุณนะ” มันไปไกลกว่ามารยาทที่ดีและความสุภาพ ในอีกทางหนึ่งคำว่า “ขอบคุณมาก ๆ นะ” หมายความว่า: พ่อ/แม่รู้ว่าลูกได้ทำอะไรให้ พ่อ/แม่แค่อยากให้ลูกรู้ว่าพ่อ/แม่ชื่นชมนะ และมันทำให้พ่อ/แม่มีความสุข มีหลายโอกาสที่เราสามารถแสดงความขอบคุณกับลูกของเราได้:

  • ในชีวิตประจำวัน: เรามีเหตุผลนับไม่ถ้วนในการขอบคุณลูกของเรา: ความช่วยเหลืออะไรก็แล้วแต่ที่พวกเขาทำให้เรา อย่างการจัดโต๊ะหรือการเอาขยะไปทิ้ง ถึงแม้ว่าบางอย่างจะเป็นความรับผิดชอบของพวกเขาอย่างการจัดห้องของตัวเองก็ตาม
  • สำหรับความอดทนของพวกเขา: หลายครั้งที่เราอาจจะไม่ได้สังเกต เจ้าตัวเล็กมีความพยายามอันยิ่งใหญ่ในการอดทนในช่วงเวลาที่พวกเขารู้สึกเบื่อ ตัวอย่างเช่น ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่รอในธนาคาร หรือนั่งรอในการจราจรที่ติดขัดที่รถไม่มีการเคลื่อนที่ เขาควรจะได้เล่น แต่เขาต้องนั่งรออยู่ตรงนั้น และในส่วนของเรา นั่นเป็นท่าทีที่ดีที่จะขอบคุณพวกเขา

นอกเหนือจากเหตุผลที่เราได้เขียนไว้ข้างบนแล้ว เรารู้ว่าลูกเป็นดังแก้วตาดวงใจของคุณ ผู้ที่นำความสุขและสีสันเข้ามาในชีวิตของคุณ, ผู้ที่ทำให้คุณยิ้มได้แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด, ผู้ที่เป็นเหตุผลหลักของความภูมิใจและความสุขของคุณ และทุกอย่างนั้นก็สมควรจะได้รับคำ “ขอบคุณ” อันยิ่งใหญ่แล้ว

ประโยคไหนบ้างที่คุณใช้บ่อยที่สุดกับลูกของคุณ แล้วคุณช่วยเสริมสร้างความนับถือตัวเองให้พวกเขาได้ยังไงเหรอ

กดติดตามพ็อดแคสต์ของเราบน Spotify หรือ Apple Podcasts เพื่อเพลิดเพลินไปกับเรื่องราวที่ดีที่สุดของเราและมอบรางวัลที่แท้จริงให้กับโสตประสาทคุณกันเถอะ!

แชร์บทความนี้