ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

ทำไมคนเราถึงต้องนอนหลับ (และข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับความฝัน)

คนส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณหนึ่งส่วนสามของชีวิตไปกับการนอนหลับ หรืออย่างน้อยไปกับการพยายามจะนอนหลับ อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เมื่อเรานอนหลับนั้นเราจะผ่านช่วงต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป (ซึ่งไม่ใช่ทุกช่วงเวลาของการนอนหลับที่จะมีการหลับฝันอยู่ในนั้น) แต่นั่นก็ยังทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมคนเราจะต้องนอนหลับและทำไมต้องฝันด้วย มีบางคำอธิบายที่บอกไว้ว่าในแง่ของทฤษฎีทางวิวัฒนาการและในแง่ทางจิตวิทยา การนอนหลับมีหน้าที่ที่จะช่วยให้คนเราคิดแก้ไขปัญหาได้ ในขณะที่ยังมีคนอื่น ๆ ที่ชี้ว่ากระบวนการนอนหลับและการฝันนี้จะช่วยให้ร่างกายของเราฟื้นฟูและทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้น

ชีวิตสดใสได้ทำการวิจัยทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการนอนหลับและการฝันมาให้คุณได้ชม โดยในช่วงโบนัสที่เราแถมพิเศษให้ คุณจะได้พบว่ามีความฝันบางอย่างที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ของเราไปได้เลยด้วย

เพื่อฟื้นฟูและทำให้ร่างกายกลับมากระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง

การทำงานฟื้นฟูร่างกายนั้นจะเกิดขึ้นในระหว่างที่เรานอนหลับเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ การซ่อมแซมบำรุงเนื้อเยื่อ การสังเคราะห์โปรตีน และการปล่อยฮอร์โมนการเจริญเติบโต เป็นต้น ดังนั้น หนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่เป็นไปได้ว่าทำไมคนเราจึงต้องนอนหลับพักผ่อน ก็เพราะว่าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูร่างกาย ขณะเดียวกันก็ทำให้ร่างกายกลับเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นมาอีกครั้งได้ด้วย

และเมื่อไหร่ที่เรานอนหลับพักผ่อนได้ไม่ดี ก็มักจะมีของแถมมาเป็นรอยหมองคล้ำใต้ตาที่ปรากฏโฉมบนใบหน้าเราบ่อย ๆ มีเคล็ดลับอย่างหนึ่งที่พอจะลดร่องรอยหมองคล้ำเหล่านั้นไปได้ ก็คือให้แตะดวงตาของคุณเบา ๆ เพื่อให้เลือดไหลมาหล่อเลี้ยงที่บริเวณนั้น หรือคุณจะปกปิดร่องรอยหมีแพนด้าเหล่านี้ด้วยเครื่องสำอางก็ได้ หากคุณมีคอนซีลเลอร์อยู่ใกล้ตัว

เพื่อขบคิดแก้ไขปัญหา

มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่าความฝันนั้น อาจวิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา 2 ชนิดหลัก ๆ ชนิดแรกคือปัญหาที่ต้องมีการสร้างมโนภาพในความคิด (เหมือนที่นักประดิษฐ์กำลังนึกจินตนาการถึงภาพเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใหม่ ๆ) ส่วนชนิดที่สองนั้นจะเชื่อมโยงกับปัญหาที่ต้องใช้หลักเกณฑ์ที่แหกคอกจากกฎเกณฑ์ทั่วไปอยู่หน่อย ๆ

นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ลองให้นักศึกษาบางคนเลือกปัญหากันมาคนละหนึ่งอย่าง และพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านั้นในความฝันให้ได้ หลังจากผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์ นักศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งต่างก็ฝันถึงปัญหานั้นจริง ๆ และหนึ่งในสี่นั้นยังสามารถแก้ปัญหานั้นได้ด้วย แสดงว่าอย่างน้อยถ้าปัญหาต่าง ๆ นั้นค่อนข้างจะไม่ได้ยากเย็นอะไร ก็จะมีคนบางคนที่สามารถแก้ไขปัญหาในตอนที่พวกเขาหลับได้ด้วย

เพื่อรวบรวมความทรงจำสำหรับการเรียนรู้

มีอีกคำแนะนำหนึ่งที่บอกไว้ว่าการพักผ่อนนอนหลับมีบทบาทสำคัญกับเรื่องของความทรงจำอย่างมาก (ทั้งก่อนและหลังเวลาที่เราได้เรียนรู้งานอะไรใหม่ ๆ) โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยพบว่า การเก็บรวบรวมความทรงจำต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นระหว่างที่เรานอนหลับ โดยจะไปเสริมสร้างการเชื่อมต่อประสาทที่สร้างความทรงจำนั่นเอง

และก็ในทางเดียวกัน การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่ดีเพียงพออาจทำให้เซลล์ประสาททำงานหนักจนเกินไปจนไม่สามารถทำงานประสานข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป ดังนั้น จึงทำให้ความสามารถที่เราจะเข้าถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้ไปแล้วลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ สิ่งนี้อาจส่งผลต่ออารมณ์ แรงจูงใจ ตลอดจนการตัดสินใจและการรับรู้ของคนคนนั้นอีกด้วย

เพื่อ “เข้ากะทำความสะอาด” สิ่งที่รกสมองของเรา

ในระหว่างชีวิตของพวกเรา มักจะมีการรับข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลเหล่านั้นก็มักจะไม่สำคัญอะไรเสียด้วย เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกจัดเก็บไว้อย่างไรนั้น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จึงได้ทำการวิเคราะห์กระบวนการที่เกี่ยวข้องในการรักษาความทรงจำเอาไว้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่เรานอนหลับจนถึงระดับที่ผ่อนคลายและหลับพักผ่อนได้ลึกจริง ๆ)


โดยผลการวิเคราะห์ชี้ว่าการเชื่อมต่อของประสาทที่มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องนั้นจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในขณะที่เรานอนหลับ และเช่นกัน ความทรงจำที่สร้างมาจากข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะถูกทำให้ชัดเจนน้อยลงไปและจางหายลงไปในที่สุด

เพื่อเป็นเครื่องจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ

หน้าที่ทางชีววิทยาของการหลับฝันนั้นคือการจำลองเหตุการณ์ที่อาจคุกคามเราและขบคิดวิธีในการหลีกเลี่ยงภัยเหล่านั้น ดังนั้นมันจึงทำให้เนื้อหาของความฝันเหล่านั้นมักได้รับการจัดระเบียบและเลือกเฟ้นมาแล้วเป็นอย่างดี


นั่นหมายความว่าระหว่างที่เรานอนหลับ สมองของเราจะสร้างภาพจำลองอันซับซ้อนของโลกใบนี้ขึ้นมา มันจะมีองค์ประกอบบางอย่างของความฝันที่จะถูกสร้างขึ้นมาอย่างลวก ๆ จนเรามองข้ามไป ในขณะเดียวกันก็จะมีองค์ประกอบอย่างอื่นที่ปรากฏชัดเจนออกมามากจนเกินไป แถมยังถูกปรับแต่งโดยประสบการณ์ของเราตอนใกล้ตื่นได้อีกด้วย

เหตุผลที่ว่าทำไมระยะเวลาที่เราควรนอนจึงเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ

การนอนหลับพักผ่อนนั้นอาจทำหน้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย หรืออย่างน้อยนี่ก็คือสิ่งที่ผลการวิจัยบอกไว้ โดยการศึกษานี้จริง ๆ แล้วมุ่งเน้นที่จะอธิบายว่าทำไมเด็กทารกจึงต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการนอนหลับ ซึ่งผลการศึกษาปรากฏว่าในขณะที่สมองของเด็กทารกกำลังสร้างการเชื่อมต่อใหม่ ๆ กับเซลล์ประสาท เด็กน้อยจะต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการนอนหลับฝันมากเป็นพิเศษ (REM sleep) (ซึ่งเป็นตัวย่อมาจากคำว่าภาวะการนอนหลับที่ลูกตาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว (Rapid Eye Movement))

ต่อมา ก่อนที่เด็กทารกจะอายุได้ 2 ขวบครึ่ง ช่วงเวลาที่พวกเขาเข้าสู่ช่วงหลับฝันก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลง และสมองก็จะสวิตช์กลับไปเข้าสู่โหมดซ่อมบำรุง และใช้เวลาในช่วงนอนหลับไปกับการทำความสะอาดและซ่อมแซมเป็นหลัก

นอกจากนี้ จำนวนเวลานอนหลับที่แต่ละคนต้องการนั้นยังมีอิทธิพลมาจากปัจจัยอีกมากมาย ซึ่งรวมถึงอายุหรือช่วงวัยด้วย ดังนั้น จำนวนเวลานอนหลับเหล่านี้คือจำนวนเวลานอนหลับที่แนะนำ:

  • ทารกแรกเกิด: 16 — 18 ชั่วโมงต่อวัน
  • เด็ก ๆ ก่อนวัยเรียน: 11 — 12 ชั่วโมงต่อวัน
  • เด็กวัยเรียน: อย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน
  • วัยรุ่น: 9 — 10 ชั่วโมงต่อวัน
  • ผู้ใหญ่ (รวมถึงผู้สูงวัย): 7 — 8 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ เราจะฝันแค่ในบางช่วงของการนอนหลับเท่านั้น

ในระหว่างที่นอนหลับนั้น มนุษย์เราจะต้องผันผ่านระยะของการนอนหลับหลายช่วงเวลา โดยระยะแรกนั้นเรียกว่าระยะที่ไม่มีการกลอกตา (NREM) ซึ่งในระยะนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงแรกเลย คนคนหนึ่งจะมีสภาพเหมือนอยู่ในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นและอาจจะเข้าสู่ภาวะหลับอย่างผิวเผิน ต่อมาในช่วงที่ 2 ก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะหลับตื้น (ร่างกายจะมีอุณหภูมิต่ำลง คลื่นสมองก็จะมีการเคลื่อนไหวช้าลง) และในช่วงที่ 3 ก็จะเข้าสู่ภาวะหลับลึกและเป็นการนอนหลับอย่างมีคุณภาพเพื่อฟื้นฟูร่างกาย โดยในช่วงนี้จะมีทั้งการหายใจอย่างช้า ๆ และหัวใจก็จะเต้นอย่างช้า ๆ กล้ามเนื้อต่าง ๆ จะผ่อนคลายและได้รับเลือดมาหล่อเลี้ยงมากยิ่งขึ้นในขณะที่พลังงานก็จะได้รับการฟื้นฟู และมีการปล่อยฮอร์โมนต่าง ๆ ออกมา

อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ 2 เราจะต้องผ่านช่วงที่เรียกว่าการนอนหลับฝัน (REM) โดยระยะนี้จะเกิดขึ้นประมาณ 90 นาทีหลังจากที่เราผล็อยหลับ และระยะของการหลับฝันนี้ยิ่งดึกก็จะยิ่งยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างระยะหลับฝันนี้ สมองจะทำงานและสร้างภาพความฝัน ในขณะที่ร่างกายของเรายังคงผ่อนคลายและยังคงไม่ขยับเคลื่อนไหว แต่ในเวลาเดียวกันนี้เองที่ร่างกายทั้งหมดของเราก็จะค่อย ๆ ฟื้นฟูกำลังกายขึ้นมา

พิเศษ: ความฝันครั้งประวัติศาสตร์

1. พอล แม็กคาร์ตนีย์เคยฝันถึงท่วงทำนองเพลงที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

โดยเรื่องนี้อ้างอิงมาจากผู้เขียนชีวประวัติ พอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney) เคยแต่งทำนองเพลง “เยสเตอร์เดย์” (Yesterday) ขึ้นมาได้ขณะที่เขากำลังนอนหลับฝันอยู่ในบ้านแฟนสาวของเขา

2. นีลส์ บอร์ ฝันเห็นโครงสร้างของอะตอม

โครงสร้างของอะตอมนั้นได้รับการค้นพบโดยนีลส์ บอร์ (Niels Bohr) โดยมีการพูดกันว่าภาพโครงสร้างนี้ปรากฏขึ้นในความฝันของเขา มันทำให้เขาสามารถเห็นภาพอิเล็กตรอนหมุนรอบนิวเคลียส (เหมือนในระบบสุริยะ) และท้ายที่สุดแล้ว เขาก็พยายามลงมือทดสอบสมมติฐานนี้และพบว่าจริง ๆ แล้ว โครงสร้างอะตอมนั้นเหมือนกับภาพที่เขาเห็นในความฝันเปี๊ยบเลย

ความฝันมีความหมายกับคุณมากแค่ไหน? คุณเคยฝันเห็นเหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้บ้างไหม?

ชีวิตสดใส/สิ่งแปลกๆ/ทำไมคนเราถึงต้องนอนหลับ (และข้อเท็จจริงบางอย่างเกี่ยวกับความฝัน)
แชร์บทความนี้