ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

เครื่องแต่งกายมากกว่า 10 ชุดที่ถูกทำขึ้นมาได้ตรงกับประวัติศาสตร์ จนคุณนั้นหาข้อบกพร่องไม่เจอเลย

ประวัติความเป็นมาของภาพยนตร์ประกอบไปด้วยหนังหลายเรื่องที่ไม่ได้อุทิศให้กับช่วงเวลาอันเป็นนามธรรม แต่แสดงถึงเอกลักษณ์ของยุคนั้น ๆ ซึ่งหนังเหล่านี้สร้างความท้าทายให้กับผู้สร้างหนัง เนื่องด้วยมันถูกคาดหวังว่าจะตรงตามประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเครื่องแต่งกาย เพราะหากชุดต่าง ๆ ของตัวละครมีความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้ชมก็จะไม่อินไปกับบรรยากาศของหนังได้อย่างเต็มที่ แล้วพวกเขาก็มักจะแสดงความคิดเห็นในแง่ลบหลังจากที่ดูหนังกัน

พวกเราที่ชีวิตสดใสได้ดูหนังที่เครื่องแต่งกายในเรื่องไม่เพียงแต่ดูน่าตื่นเต้นเท่านั้น แต่ยังตรงตามประวัติศาสตร์อย่างแม่นยำอีกด้วย อีกทั้งพวกเรายังสงสัยอีกว่านักออกแบบมีแนวทางอะไรบ้าง เมื่อพวกเขาได้สร้างเครื่องแต่งกายผ่านการสเก็ตช์ภาพในตอนแรก

เอ็มม่า (2020)

อเล็กซานดร้า เบิร์น (Alexandra Byrne) นักออกแบบเครื่องแต่งกายที่ได้รับรางวัลออสการ์ได้ศึกษาบรรดาเอกสารสำคัญ ลวดลายแนววินเทจ และเนื้อผ้าของยุคเรอเนซองส์อย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจว่าสี ผ้า และชุดแบบใดที่ได้รับความนิยมในช่วงยุค 1800

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคนในยุคดังกล่าวได้สวมเสื้อผ้าที่ดูมืดมนและไม่สดใส แต่บรรดาสาว ๆ แฟชั่นที่ร่ำรวยในสมัยนั้นได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแสดงออกซึ่งรสนิยมและความมีฐานะดีผ่านเสื้อผ้า โดยพวกเธอชอบผ้าที่มีรายละเอียดอัดแน่นและสีสันสดใส นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เบิร์น (Byrne) ตัดสินใจที่จะทำลายภาพลักษณ์ที่เชื่อกันแพร่หลายเหล่านี้ แล้วก็ได้นำเสนอชุดของเธอในแบบสีสันของลูกกวาด โดยมีตั้งแต่สีชมพูอ่อนไปจนถึงสีเหลืองสดใส

เบิร์นยังพบแรงบันดาลใจจากการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย อย่างชุดสเปนเซอร์สีชมพูอ่อนที่เอ็มม่า (Emma) สวมใส่อยู่นั้นเป็นหนึ่งในลุคโปรดของสาว ๆ แฟชั่นในยุครีเจนซี่ นอกจากนี้ในยุค 1790 มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่สวมเสื้อเบลเซอร์ตัวสั้นพวกนี้ แต่ต่อมาพวกมันก็ถูกสาว ๆ นำมาสวมทับบนบ่าอย่างรวดเร็วเช่นกัน อีกทั้งชุดสเปนเซอร์ยังได้ช่วยให้เด็กสาวเปลี่ยนชุดสีขาวที่พวกเธอเริ่มเบื่อหน่ายในการสวมใส่ เนื่องจากมันได้รับความนิยมอย่างมากในครึ่งแรกของศตวรรษที่สิบเก้า

หลายครั้งที่เอ็มม่าและตัวละครหญิงคนอื่น ๆ สวมชุดลำลองที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น ซึ่งเป็นเสื้อแขนตุ๊กตาบาง ๆ ที่มีจีบเล็ก ๆ ที่คอ โดยในช่วงกลางวัน สาว ๆ จะสวมพวกมันทับชุดเดรสเพื่อปิดคอที่โล่ง ๆ และบริเวณขอบเสื้อช่วงอก

ชุดพลิ้วไหวตัวนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของรายละเอียดในเครื่องแต่งกาย ซึ่งหนึ่งในฉากงานสังคมในหนัง เอ็มม่าดูเจิดจรัสอยู่ในชุดเดรสผ้าไหมสีสดใสจากช่วงยุค 1810 โดยทีมนักออกแบบพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเลียนแบบการประดับตกแต่งที่ซับซ้อนที่ติดอยู่ทั้งส่วนบนและล่างของชุด

สี่ดรุณี (2019)

ในปี 2020 หนังเรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขา “เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม” และในขณะที่แจคเกอลีน ดูร์แรน (Jacqueline Durran) ปล่อยให้ประวัติศาสตร์บางส่วนมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็มีบางฉากที่มีเครื่องแต่งกายที่แม่นยำจริง ๆ สำหรับยุคนี้

ตัวอย่างเช่นในตอนแรกผ้าพันคอสีเขียวสดใสของเม็ก (Meg) ดูอยู่ผิดที่ผิดทาง เนื่องด้วยเด็กสาวคนนี้คงไม่สามารถซื้อเสื้อผ้าราคาแพงที่มีสีสด ๆ ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วในช่วงยุค 1850 ได้มีการเริ่มผลิตสีย้อมสังเคราะห์ในระดับอุตสาหกรรม แล้วสีต่าง ๆ อย่างสีน้ำเงินเข้ม สีม่วงสดใส และสีเขียวเหมือนกับที่เม็กใส่ ก็มีวางขายให้คนทั่วไปได้ซื้อหาเช่นกัน

ไททานิค (1997)

เดโบราห์ ลินน์ สก็อตต์ (Deborah Lynn Scott) เป็นนักออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับหนังสุดฮิตเรื่องนี้ และได้รับรางวัลออสการ์จากผลงานอันสมบูรณ์แบบของเธอ โดยผู้กำกับขอให้เธอถ่ายทอดยุคสมัยให้ถูกต้องและมีความละเอียดมากที่สุด เพราะโครงเรื่องอิงจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันโด่งดัง นักออกแบบเครื่องแต่งกายจึงศึกษาช่วงเวลาดังกล่าวและอ่านหนังสือเกี่ยวกับมารยาทหลายเล่ม เพื่อทำความเข้าใจว่าตัวแทนของสังคมชนชั้นสูงจะสวมใส่ชุดแบบใดบ้างในที่สาธารณะ

ดังนั้นเมื่อเราเห็นโรส (Rose) บนหน้าจอเป็นครั้งแรก เธอจึงปรากฏตัวอยู่ในชุดลายทางหลังจากที่ทานมื้อกลางวัน ซึ่งเกือบจะเหมือนกับเสื้อผ้าที่คัดลอกมาจากนิตยสารแฟชั่นฝรั่งเศสประจำปี 1912 แบบเป๊ะ ๆ โดยชุดประเภทนี้จึงเป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบสำหรับสาว ๆ ที่กำลังเดินทางในช่วงครึ่งหลังของวัน

สกอตต์ (Scott) ให้ความสำคัญกับชุดชั้นในของตัวละครเป็นอย่างมาก แล้วก็เป็นที่ทราบกันดีว่าสาว ๆ ในปี 1912 ไม่สวมเสื้อชั้นในกัน แต่คาดว่าพวกเธอจะต้องมีโครงร่างของหุ่นที่เด่นชัดในที่สาธารณะ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ตัวละครของเคต วินสเล็ต (Kate Winslet) ต้องสวมใส่คอร์เซ็ทอยู่เสมอ

เดอะ ดัชเชส พิศวาส อำนาจ ความรัก (2008)

ในปี 2009 ไมเคิล โอคอนเนอร์ (Michael O’Connor) นักออกแบบเครื่องแต่งกายชาวอังกฤษได้รับรางวัลออสการ์จากผลงานของเขา โดยเขาได้รังสรรค์เครื่องแต่งกายถึง 30 ชุดให้กับเคียร่า ไนต์ลีย์ (Keira Knightley) ผู้รับบทเป็นจอร์เจียน่า คาเวนดิช (Georgiana Cavendish) ดัชเชสแห่งเดวอนเชียร์ ซึ่งในขณะนั้นบุคคลในประวัติศาสตร์คนนี้คือคนที่มีความทันสมัยมากที่สุดในแวดวงของขุนนางอังกฤษ

สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ดำเนินไปในช่วงเวลาที่ค่อนข้างกว้าง คือตั้งแต่ปี 1714 ไปถึงกลางยุค 1800 และเครื่องแต่งกายในหนังก็สะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการของแฟชั่นในช่วงเวลานี้ให้ประจักษ์กับสายตา อย่างเช่นชุดแต่งงานที่ดัชเชสสวมใส่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดฝรั่งเศสอันหรูหราในช่วงปลายยุค 1770 ซึ่งตรงนี้คุณจะเห็นว่าแม้แต่ความยับย่นบนกระโปรงก็ดูเข้ากัน โดยให้ความใส่ใจกับข้อเท็จจริงที่ว่าชุดเดรสมีโครง (โครงชุดที่ทำจากกระดูกวาฬที่สวมเอาไว้ใต้กระโปรงเพื่อให้หุ่นทรงตามที่ต้องการและรองรับเสื้อผ้าที่มีน้ำหนักมาก) ที่ดูคล้ายเช่นกัน

จอร์เจียน่า (Georgiana) เป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำเครื่องประดับสุดฮิตจากขนนกกระจอกเทศ ดัชเชสได้โพสท่าถ่ายรูปโดยสวมหมวกปีกกว้างที่มีขนนกเอาไว้ หลังจากนั้นเครื่องประดับศีรษะชิ้นนี้ก็เป็นที่ต้องการของชาวอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่านักแบบเครื่องแต่งกายได้สะท้อนความจริงข้อนี้เอาไว้ในชุดของเคียร่า ไนต์ลีย์ด้วยเช่นกัน

มู่หลาน (2020)

เครื่องแต่งกายเป็นสิ่งที่ย่อมปฏิเสธไม่ได้ของหนังดัดแปลงเรื่องนี้ โดยนักออกแบบบีน่า ไดเกเลอร์ (Bina Daigeler) ได้เดินทางไปทั่วประเทศจีนเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ ซึ่งเธอได้ซึมซับประวัติศาสตร์ของประเทศจีนและได้รับแรงบันดาลใจจากเสื้อผ้าของราชวงศ์ถัง (ศตวรรษที่เจ็ดถึงศตวรรษที่สิบ) โดยในสมัยนั้นผู้หญิงสวมชุดเดรสแขนยาวและเอวสูง เครื่องแต่งกายของยุคนี้โดดเด่นด้วยความสว่างของสี คือเหล่าขุนนางจะสวมเครื่องแบบสีม่วง สีน้ำเงินและสีแดง ในขณะที่ชุดอื่น ๆ จะใส่ได้ถึง 5 สีในชุดเดียวกัน

เครื่องแต่งกายที่มู่หลาน (Mulan) สวมเมื่อไปพบแม่สื่ออาจเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดในหนังเรื่องนี้ โดยไดเกเลอร์ (Daigeler) ได้นำลุคอันโดดเด่นมาสู่หนังผ่านทางชุดฮั่นฝู (Hanfu) ซึ่งเป็นชุดจีนโบราณที่ตกแต่งด้วยงานปักมือที่ประกอบไปด้วยผีเสื้อ ดอกแมกโนเลีย และมังกร โดยใช้เวลาทำเกือบ 4 สัปดาห์

คุณชอบดูหนังและซีรีย์ทางประวัติศาสตร์กันมั้ย ? แล้วในความคิดเห็นของคุณ ชุดไหนในบทความนี้ที่ตรงตามประวัติศาสตร์มากที่สุด

เครดิตภาพพรีวิว Titanic / Paramount Pictures, Titanic / Paramount Pictures
แชร์บทความนี้