ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

12 การกระทำที่พ่อแม่อาจทำร้ายลูกได้โดยไม่รู้ตัว

ทุกวันนี้ มีคำแนะนำการเลี้ยงลูกให้ถูกวิธีออกมามากมาย ซึ่งบ่อยครั้งที่คำแนะนำเหล่านั้นก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่คุณหมอและนักจิตวิทยาก็ยังคงไม่หยุดยั้งที่จะทำการทดลองใหม่ ๆ วิเคราะห์ผลลัพธ์ และสร้างข้อแนะนำใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ ในตอนแรกเคล็ดลับเหล่านี้อาจฟังดูแปลกประหลาด แต่ถ้าคุณได้ลองอ่านรายละเอียดคุณจะรู้สึกว่ามันมีประโยชน์มากเช่นกัน

ชีวิตสดใสได้อ่านรายงานการศึกษาสุขภาพเด็กและทำรายการเรื่องที่อาจเป็นภัยต่อเด็ก ๆ ขึ้นมา โดยอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ และในตอนท้ายของบทความนี้ เรายังเพิ่มข้อแนะนำสำหรับคุณย่าคุณยายทั้งหลายให้กังวลเกี่ยวกับหลาน ๆ ให้น้อยลงอีกด้วย

1. จั๊กจี้เด็กน้อย

บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่อยากจะทำให้เด็ก ๆ ได้หัวเราะก็เลยเริ่มที่การจั๊กจี้เด็กน้อย แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียได้ค้นพบเมื่อหลายปีก่อนว่าการจั๊กจี้ไม่ได้สร้างความสุขแบบเดียวกับความตลกขบขันกับมุกตลกต่าง ๆ มันเป็นแค่ภาพลวงตาของการหัวเราะอย่างมีความสุขเท่านั้น

ในกรณีนี้ เด็ก ๆ จะหัวเราะไม่หยุดจากปฏิกิริยาโต้ตอบของร่างกาย ไม่ว่าใคร ๆ ก็หัวเราะทั้งนั้นถ้าถูกจั๊กจี้ แต่ปัญหาก็คือ แม้เด็ก ๆ จะเกลียดการถูกจั๊กจี้ แต่ร่างกายก็จะทำให้พวกเขาต้องหัวเราะออกมาอยู่ดี

2. การวางของเล่นไว้ในเตียงเด็กทารก

ไม่ใช่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนหรอกที่จะรู้ว่าการที่จะทำให้เด็ก ๆ หลับได้ดีนั้น อาศัยเพียงเบาะนอนนุ่ม ๆ ผ้าปูที่นอนดี ๆ กับผ้าห่มผืนเล็ก ๆ ให้ซุกตัวจากความหนาวเย็นในห้องได้ก็เพียงพอแล้ว บางครั้งก็อาจจะใช้แค่หมอนอีกหนึ่งใบ (ที่แบนและมีขนาดเล็ก) อย่างไรก็ตามมีการศึกษาค้นพบว่าก่อนที่เด็กน้อยจะเติบโตจนถึงช่วงอายุหนึ่ง เด็กตัวเล็ก ๆ ยังไม่ต้องการหนุนหมอนนอนนัก


นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังไม่ต้องการของตกแต่งพิเศษอื่นใดอยู่ในอาณาบริเวณที่พวกเขานอนหลับ เพราะของเล่นนุ่ม ๆ หรือไม่ว่าจะเป็นของเล่นประเภทใด ล้วนอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ทุกเมื่อ ของเล่นพวกนั้นอาจไปปลุกเด็กน้อยเข้า หรือแม้แต่อาจจะทำให้เด็กทารกหายใจลำบากได้ถ้าพวกเขาเผลอซุกหน้าเข้ากับของเล่นพวกนั้น

3. เปิดแสงไฟอ่อน ๆ ทิ้งไว้ตอนกลางคืนขณะที่เด็กน้อยนอนหลับ

การหรี่แสงไฟทิ้งไว้ตลอดคืนในห้องนอนเด็กไม่ใช่เรื่องที่ดี ฮอร์โมนการเจริญเติบโตจะผลิตออกมาในตอนที่คุณกำลังนอนหลับ และร่างกายจะผลิตมันออกมาได้ดียิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในความมืดสนิท เหตุผลที่ผู้คนเปิดไฟอ่อน ๆ ทิ้งไว้ตอนกลางคืนนั้นแตกต่างกันออกไป แต่โดยมากแล้ว ผู้ปกครองจะเป็นคนเปิดทิ้งไว้เองเพื่อให้ตัวเองทำอะไรได้สะดวก เช่น จะเปลี่ยนผ้าอ้อมได้ง่ายขึ้นในยามค่ำคืน หรือคุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเป็นคนที่กลัวความมืด ก็เลยเปิดไฟทิ้งไว้เพื่อไม่ให้เด็กน้อยหวาดกลัว โดยคิดว่าแสงไฟอ่อน ๆ ยามกลางคืนอาจช่วยได้


เทรซี เบโดรเซียน (Tracy Bedrosian) นักประสาทวิทยาประจำมหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอได้ให้คำแนะนำไว้ว่าหากไม่สามารถเลิกเปิดไฟไว้ตอนกลางคืนได้ ก็ให้ใช้ไฟแบบที่ถูกต้องแทน การทดลองต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าแสงสีเขียวจะทำให้นาฬิกาของร่างกายขยับไปประมาณ 90 นาที และแสงสีฟ้าจะทำให้นาฬิกาของร่างกายขยับไปประมาณ 180 นาที เท่ากับว่าจะยิ่งนอนหลับได้ยากขึ้น ส่วนแสงสีแดงและแสงสีส้มนั้นจะไม่ยับยั้งการผลิตเมลาโทนินเหมือนแสงสีเขียว สีขาวและสีฟ้า และยังไม่เข้าไปรบกวนนาฬิกาชีวิตของเราอีกด้วย

4. อย่าเขย่าเด็กทารก

พ่อแม่ทุกคนคงต้องเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะกล่อมลูกน้อยนอนได้ยากมาก หากไม่มีการเขย่าตัว บางครั้งขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานมากจนถึงจุดที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะเหนื่อยกันแล้ว แต่เด็กน้อยก็ยังไม่หลับ


กุมารแพทย์หลายท่านกล่าวว่าเราจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ ถ้าเราสอนให้ลูกนอนหลับให้เป็นเวลาตั้งแต่เกิด โดยต้องขจัดปัจจัยที่อาจสร้างความระคายเคืองทั้งภายนอกและภายในออกไปให้ได้ เช่นความหิว ผ้าอ้อมเปียกชื้น เสียงรบกวน เสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่สบายตัว หรืออะไรก็ตามที่จะส่งผลต่อการนอนหลับ แต่ถ้าคุณเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ที่จะไม่เขย่าตัวลูก ก็พยายามอย่าให้นานจนเกินไปนัก หรือต้องแน่ใจว่าการเคลื่อนไหวของคุณจะนุ่มนวลเพียงพอ

5. ซ่อนกระจกไม่ให้เด็กเห็นเพราะความเชื่อทางไสยศาสตร์ยอดฮิต

มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ยอดฮิตอยู่เรื่องหนึ่งที่เตือนไม่ให้ผู้ปกครองวางกระจกไว้ให้ลูกเห็น เพราะ “เด็ก ๆ อาจจะป่วยได้” ซึ่งนี่เป็นแนวคิดที่ประหลาดมาก อ้างอิงจากกุมารแพทย์และนักจิตวิทยาทั่วโลก คุณหมอซูซี่ กรีน (Doctor Suzy Green) จากสถาบันส่งเสริมความคิดเชิงบวก (The Positivity Institute) ให้คำแนะนำว่าผู้ปกครองควรจะใช้กระจกเล่นกับลูก เพราะมันช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงตัวตนของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้ยากมากในสัตว์โลก

เด็ก ๆ มักมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเงาของตัวเองในกระจกต่างกันไปในช่วงอายุต่าง ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไรนี่ก็จะเป็นประสบการณ์ที่ตรึงใจและเป็นประสบการณ์เชิงบวกต่อพวกเขาแน่ ๆ

6. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจากเชื้อโรคให้แก่เด็ก ๆ

เราต่างเคยคิดว่าความสะอาดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก แต่นักวิจัยจากนานาประเทศกลับเห็นพ้องต้องกันว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่สภาพแวดล้อมรอบกายสะอาดจนเกินไป นั่นต่างหากที่จะส่งผลเสียต่อการพัฒนาของเด็ก สิ่งแวดล้อมที่ปราศจากเชื้อโรคจะทำชะลอกระบวนการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งของเด็ก ๆ อันเป็นระบบที่จะช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ แทนได้ เช่น การป่วยเป็นโรคหอบหืด จมูกอักเสบ และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง


ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงที่ผู้ปกครองชอบทำกันก็คือการทำความสะอาดที่พักบ่อยจนเกินไป มากจนเกินไป และการห้ามไม่ให้เด็ก ๆ สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงใด ๆ เลย ยิ่งเด็กน้อยได้หัดรับมือกับสารที่อาจก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้เร็วเท่าไหร่ ระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขาก็จะเรียนรู้ที่จะจัดการกับสิ่งนั้นราวกับเป็นเรื่องธรรมดาได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น

7. การสอนให้เด็กนั่งกระโถนเร็วเกินไป

กระโถนน้อยเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าทำตามคำแนะนำของคนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอย่างเด็ดขาด อย่าคาดหวังว่าเด็ก ๆ ควรจะเริ่มนั่งกระโถนได้ตั้งแต่อายุได้แค่ขวบหรือขวบครึ่ง ในช่วงวัยนี้ พวกเขายังไม่รู้เลยว่าควรตอบสนองกับสัญญาณต่าง ๆ ที่ส่งมาจากร่างกายอย่างไรดี


สตีเฟน ฮอดจ์ (Stephen Hodges) แพทย์ทางเดินปัสสาวะในเด็กได้กล่าวไว้ว่า “ในอีกไม่ช้าก็เร็ว เด็กถึงจะเรียนรู้ที่จะควบคุมสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกายได้ เมื่อนั้นต่างหากคือเวลาที่พวกเขาจะเริ่มใช้กระโถนได้ ปกติแล้วกระเพาะปัสสาวะต้องใช้เวลา 3 หรือ 4 ปีในการพัฒนา การปล่อยให้เด็กปล่อยปัสสาวะได้ตามแต่ใจ เช่น การให้ปัสสาวะลงผ้าอ้อม จะช่วยในการพัฒนากระเพาะปัสสาวะได้”

8. การบังคับให้เด็กกินอาหารให้หมด

คุณยายคุณย่าทั้งหลาย (และพ่อแม่บางคน) จะเสียใจมากหากเด็ก ๆ ไม่อยากกินอาหารให้หมดจาน แล้วก็จะเริ่มโน้มน้าว ต่อรอง หรือแม้แต่บังคับให้กินให้หมด สุดท้ายแล้วอาหารก็จะหมดจาน แต่คนที่มีความสุขดูเหมือนว่าจะมีแต่ผู้ปกครองเท่านั้น


น้อยคนนักที่จะรู้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลให้เกิดการพัฒนานิสัยการกินที่ไม่ดี พวกเขาจะไม่ได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจร่างกายของตัวเองเลย พวกเขาจะรู้จักแต่การกินมากเกินพอดีเท่านั้น

9. การป้อน

เอมี บราวน์ (Amy Brown) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขเด็กประจำมหาวิทยาลัยสวอนซีได้กล่าวไว้ว่า เราไม่ควรช่วยเด็ก ๆ ให้กินอาหาร หากพวกเขาสามารถใช้ช้อนเองได้


“เด็ก ๆ ที่โตมาจากการป้อนอาหารเป็นระยะเวลาที่นานเกินควร เป็นไปได้ที่จะมีปัญหาน้ำหนักตัวมากในอนาคต เพราะในระหว่างที่ป้อนอาหาร มันยากมากที่จะบอกได้ว่าเด็ก ๆ จะอิ่มเมื่อไหร่ และสุดท้ายพวกเขาก็จะกินมากเกินไป”


อ้างอิงจากนักวิจัยหลายท่าน เด็ก ๆ ที่กินอาหารได้เองจะสามารถกินอาหารในจังหวะของตัวเอง และจะเริ่มเรียนรู้รสชาติอาหาร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ถูกต้องต่ออาหารตามไปด้วย"

10. การปกป้องเด็ก ๆ จากสารก่อภูมิแพ้ทั้งหลาย

มีผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดนที่อ้างว่าพ่อแม่ควรจะจำกัดอาหารที่ลูกกินให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพ้อาหารบางอย่าง


กอแรน เวยเนอร์เกรน (Göran Wennergren) ศาสตราจารย์แพทย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กได้กล่าวไว้ว่า “การให้เด็ก ๆ กินอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ตั้งแต่ยังเด็ก ไม่เพียงแค่มันจะไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ เท่านั้น แต่มันยังค่อนข้างมีประโยชน์อีกด้วย ระบบภูมิคุ้มกันจะได้เรียนรู้ที่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างถูกต้อง ตัวอย่างง่าย ๆ เลยก็คืออาหารจำพวกปลา นี่คือสาเหตุที่เราแนะนำให้เด็ก ๆ ได้กินเนื้อปลาบดตั้งแต่อายุ 4 เดือน”


ความเห็นของศาสตราจารย์ท่านนี้ได้รับการพิสูจน์โดยงานศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เพิ่งทำการศึกษาไปโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอลและชาวอังกฤษ ผู้ปกครองในชุมชนชาวยิวที่กรุงลอนดอนไม่ยอมให้เด็ก ๆ ได้กินเนยถั่วเลย ในขณะที่เด็ก ๆ ในอิสราเอลได้ลิ้มลองเนยถั่วกันตั้งแต่อายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ และผลทางสถิติก็ไม่มีทางโกหก เมื่อเด็ก ๆ จากอิสราเอลมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการแพ้น้อยกว่าเด็ก ๆ ในลอนดอน

11. การบังคับให้เด็กแบ่งปัน

พออายุได้ 2 ขวบ เด็ก ๆ จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และทุกอย่างของพวกเขาก็จะถูกมองว่าเป็นของพวกเขาเท่านั้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมหากมีใครอยากจะเอาอะไรสักอย่างไปจากเด็กน้อย ถึงถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุก น่าเศร้าที่มีผู้ปกครองเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจสิ่งนี้ เหล่าคุณพ่อคุณแม่ต่างไม่อยากเห็นว่าลูกของตัวเองเป็นคนขี้งก พวกเขาจึงชอบบังคับให้เด็ก ๆ แบ่งของเล่นและอาหารให้กับคนอื่น ๆ


อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาต่างเชื่อว่าการที่เราทำเช่นนั้น เป็นการเลี้ยงให้เด็กเป็นคน “ง่าย ๆ” ซึ่งจะทำให้เด็กไม่รับฟังความต้องการของตัวเอง และทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ตนปรารถนา ในท้ายที่สุด พวกเขาก็จะเติบโตเป็นชายหนุ่มหญิงสาวที่ไม่สามารถพูดคำว่า “ไม่” ออกไปได้ ต่อให้เรื่องนั้นจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตนเองอย่างใหญ่หลวงก็ตาม

12. การใช้ผ้าห่อร่างเด็กน้อยไว้เมื่อมือและเท้าของพวกเขาเย็น

ถ้าเท้า มือ หรือจมูกของเด็กน้อยไม่ค่อยอุ่นนัก นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กกำลังรู้สึกหนาว เพราะในร่างกายเด็กเล็กแล้ว พวกเขามีระบบหมุนเวียนของเลือดและความตึงของหลอดเลือดที่มีคุณลักษณะพิเศษ ดังนั้นไม่เป็นไรหรอกหากอวัยวะเหล่านี้ของพวกเขาจะเย็นกว่าส่วนอื่น ๆ อุณหภูมิห้องปกติสำหรับเด็กควรอยู่ระหว่าง 20 — 22 องศาเซลเซียส ในสภาพอากาศดังกล่าว เด็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องสวมหมวก ถุงเท้า หรือถุงมือใด ๆ ควรปล่อยให้ผิวสามารถหายใจได้และได้สัมผัสกับอากาศภายนอก


อย่างไรก็ดี การจะทำให้เด็กร้อนเกินไปนั้นง่ายกว่าและเป็นอันตรายกว่าการทำให้พวกเขารู้สึกหนาว สัญญาณที่สังเกตได้ชัดว่าพวกเขาร้อนเกินไปคือความเปียกชื้นบริเวณลำคอ และสีผิวที่ควรจะเป็นสีชมพูซีดในสถานการณ์ปกติ เมื่อไหร่ก็ตามที่สีผิวของเด็กน้อยดูเป็นสีชมพูเข้มจนเกินไป หรือแม้แต่มีสีแดง นั่นหมายความว่าเด็กน้อยกำลังร้อนมากเกินไป และจำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าที่คลุมตัวอยู่ออกบ้าง

คุณคิดว่าคำแนะนำเหล่านี้มีประโยชน์บ้างมั้ย ? หรือควรปล่อยให้พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูก ๆ ของพวกเขา ?

Please note: This article was updated in April 2022 to correct source material and factual inaccuracies.
ชีวิตสดใส/ครอบครัว & เด็ก/12 การกระทำที่พ่อแม่อาจทำร้ายลูกได้โดยไม่รู้ตัว
แชร์บทความนี้