ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

18 สัญญาณที่จะช่วยให้คุณเข้าใจลูกน้อยของคุณได้ดีขึ้น

เมื่อทารกอายุน้อยมาก พ่อแม่มักจะกังวลในเรื่องความสุขและสุขภาพของลูกน้อย พวกเขาพยายามเดาว่าทารกต้องการอะไร และอะไรที่อาจทำให้ทารกรู้สึกไม่สบาย แต่คุณจะเข้าใจเด็กทารกโดยไม่ใช้คำพูดได้ยังไง ผู้เชี่ยวชาญสรุปวิธีการหลัก 3 วิธีที่จะช่วยให้ทารกสื่อสารกับผู้ใหญ่ได้

ในขณะที่พ่อแม่ทุกคนเรียนรู้ที่จะเข้าใจและตีความสัญญาณเฉพาะตัวของลูก แต่เราที่ชีวิตสดใสสนใจเรื่องกฎทั่วไปบางข้อที่ใช้ในการแยกแยะความต้องการของเหล่าทารกน้อย

ลักษณะการร้องไห้

การร้องไห้เป็นวิธีหลักที่ทารกแสดงออกถึงความต้องการในช่วง 4 เดือนแรกของชีวิต แต่พ่อแม่จะเข้าใจได้ยังไงว่าทารกร้องไห้เพราะหิว, เจ็บปวด หรือเพราะเหตุผลอื่น

  • ร้องไห้เรียก ทารกถูกทิ้งให้อยู่ลำพังมานานแล้ว และตอนนี้พวกเขาต้องการให้พ่อแม่มาอุ้ม พวกเขาร้องไห้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5-6 วินาทีแล้วหยุดเป็นเวลา 20 วินาที ราวกับว่าพวกเขากำลังรอการตอบรับ หากผู้ปกครองไม่ตอบสนอง ทารกก็จะทำวงจรนี้จะซ้ำหลายครั้งจนกลายเป็นการร้องไห้อย่างต่อเนื่อง
  • ร้องไห้เพราะหิว อาจเริ่มด้วยการร้องไห้เรียก แต่ถ้าคุณยังไม่ได้อุ้มหรือป้อนอาหารให้ทารก เสียงร้องจะดำเนินต่อไปและกลายเป็นการร้องไห้หนัก ทารกอาจจะส่ายหัวไปมาและส่งเสียงหวีดร้องด้วย
  • ร้องไห้เพราะความเจ็บปวด การร้องไห้แบบนี้จะมีระดับเสียงเดียว, เสียงดังและต่อเนื่อง จะมีการร้องไห้หนักเป็นระยะ ๆ ซึ่งบ่งบอกว่ามีอาการเจ็บปวดเพิ่มขึ้น ถึงอย่างนั้นหากทารกป่วย เสียงร้องของลูกก็อาจมีระดับเสียงเดียวแต่เงียบ เพราะพวกเขาไม่มีแรงพอที่จะส่งเสียงดัง
  • ร้องไห้เพราะกระบวนการทางสรีรวิทยา แม้แต่แก๊ส ปัสสาวะหรืออุจจาระก็อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัวได้ การร้องไห้ประเภทนี้คล้ายกับร้องไห้สะอื้น และร้องเสียงแหลม
  • ร้องไห้เพราะง่วงนอน เมื่อทารกง่วงนอนแต่นอนไม่หลับด้วยเหตุผลบางอย่าง เสียงร้องของทารกจะฟังเหมือนเสียงครางอย่างโกรธ ๆ และน้ำเสียงราบเรียบ ตามมาด้วยการหาว ทารกจะขยี้ตาและหูด้วย
  • ร้องไห้เพราะไม่สบายตัว การร้องไห้นี้เป็นการร้องเพราะหงุดหงิดและเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ และมักจะมาพร้อมกับการขยับตัวยุกยิก ทารกยังอาจตีลังกาและโค้งตัวด้วย ซึ่งหมายความว่าถึงเวลาตรวจดูผ้าอ้อมแล้ว หรือทารกอาจรู้สึกหนาวหรือร้อนเกินไปเพราะเสื้อผ้าที่ใส่อยู่
  • ยิ่งไปกว่านั้น ทารกที่ตัวเล็กมากอาจร้องไห้เมื่ออยากเปลี่ยนสภาพแวดล้อม หรือเมื่อรู้สึกหงุดหงิดหรือเบื่อได้ด้วย

เสียงของทารก

พริสซิลลา ดันสแตน (Priscilla Dunstan) กุมารแพทย์ชาวออสเตรเลีย ได้ศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับเสียงในวัยเด็ก (อายุไม่เกิน 3-4 เดือน) มานานกว่า 20 ปี ทารกหลายพันคนจากหลากหลายเชื้อชาติเข้าร่วมในการทดลองของเธอ พริสซิลลาคิดว่าการตอบสนองด้วยเสียงเป็นเรื่องสากล หลังจากอายุได้ 4 เดือน ทารกเริ่มส่งเสียงเพราะต้องการสื่อสารในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความต้องการทางกายภาพ
พริสซิลลาได้เปิดโรงเรียนของเธอเอง โดยสอนพ่อแม่มือใหม่ให้เข้าใจลูกของพวกเขา เป็นที่คิดกันว่าความสามารถในการตระหนักถึงเสียงเหล่านี้ได้ทันท่วงที จะช่วยป้องกันการร้องไห้ของทารกได้

’พจนานุกรม’ ของเสียงหลักประกอบด้วย:

  • ’เน’ - “หนูหิวแล้ว !” เสียงนี้เกิดขึ้นเมื่อทารกดันลิ้นขึ้นไปที่เพดานปาก และทำเสียงดูดปาก
  • ’แอ๊ะ’ - “หนูจะเรอ !” เสียงนี้เกิดขึ้นเมื่ออากาศส่วนเกินเริ่มออกจากหลอดอาหารของทารก และทารกพยายามที่จะปล่อยมันออกมาจากปาก
  • ’ฮ้าว’ - “หนูง่วงนอนหรือเหนื่อย !” ทารกทำ ’เสียงแสดงความเหนื่อยล้า’ โดยการเม้มริมฝีปากก่อนหาว
  • ’แง’ - “หนูรู้สึกไม่สบายตัว !” ความรู้สึกสัมผัสที่ไม่พึงประสงค์ทำให้ทารกเคลื่อนไหวและเหวี่ยงมือเท้าไปมา การเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้เกิดเสียง ’แง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปากของทารกอ้าออกเล็กน้อย
  • ’เอ่อ’ - ’หนูมีแก๊สและปวดท้อง !’ เสียงที่พวกเขาทำจะบิดเบี้ยวและกลายเป็นเสียงครางเมื่อทารกเกร็งท้องและหายใจออก ในขณะที่พยายามจะลดความเจ็บปวดลง

การเคลื่อนไหวของทารก

ภาษากายบอกถึงระดับความสุขของทารกได้เป็นอย่างดี:

  • ทารกงอหลัง ทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือนมักจะเคลื่อนไหวแบบนี้เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความเจ็บปวดและอาการจุกเสียด หากทารกงอหลังหลังกินอาหารแสดงว่าอิ่มแล้ว หากคุณเห็นลูกเคลื่อนไหวแบบนี้บ่อย ๆ ระหว่างการกินอาหาร นั่นก็อาจเป็นสัญญาณของกรดไหลย้อน หากทารกอายุมากกว่า 2 เดือน การเคลื่อนไหวนี้มักจะบ่งบอกถึงความเหนื่อยล้าและอารมณ์ไม่ดี
  • ทารกหันหัวไปมา นี่คือการเคลื่อนไหวเมื่อทารกรู้สึกสงบ พวกเขาอาจทำก่อนนอน หรือเมื่ออยู่ท่ามกลางคนที่ไม่รู้จัก
  • ทารกจับหูตัวเอง ในกรณีส่วนใหญ่ การเคลื่อนไหวนี้แสดงให้เห็นว่าทารกเพียงแค่สำรวจร่างกายของตัวเอง คุณควรปรึกษาแพทย์เฉพาะในกรณีที่มีการเคลื่อนไหวตามด้วยการร้องไห้ และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
  • ทารกกำหมัด นี่คือสัญญาณของความหิว หากคุณสังเกตได้ทันเวลา คุณก็จะป้องกันไม่ให้พวกเขาร้องไห้ได้
  • ทารกยกขา นี่คือสัญญาณของอาการจุกเสียดและปวดท้อง ทารกตอบสนองด้วยการพยายามทำท่านี้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด
  • ทารกแขนกระตุก การเคลื่อนไหวนี้หมายความว่าทารกกำลังตื่นตระหนก, เสียงดัง, แสงจ้า หรือการตื่นอย่างกะทันหันได้กระตุ้นการตอบสนอง จนทำให้เกิดอาการสะดุ้งได้ ในกรณีนี้ ทารกจะต้องการการปลอบโยน

กุมารแพทย์แนะนำให้พูดคุยกับลูกน้อยของคุณให้บ่อยที่สุด อธิบายและให้ลูกเห็นทุกอย่างในสภาพแวดล้อม แม้จะดูเหมือนว่าพวกเขาจะยังไม่เข้าใจอะไรเลยก็ตาม การทำแบบนี้จะช่วยให้พวกเขาเริ่มสื่อสารกับคนที่เขารักได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เสียงและท่าทางต่าง ๆ และยังช่วยให้พวกเขามีพัฒนาการได้ดีขึ้นอีกด้วย เราขอให้คุณโชคดีและหวังว่าคุณจะเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น !

มีอะไรที่คุณอยากจะเพิ่มในรายการนี้อีกไหม เราอยากรู้ว่าคุณคิดยังไง บอกเราในคอมเมนต์หน่อย !

เครดิตภาพพรีวิว casanowe1 / Depositphotos, logoboom / Depositphotos
แชร์บทความนี้