ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

กฎ 8 ข้อที่มายิม เบียลิกใช้กับลูก ๆ ของเธอซึ่งสามารถพลิกโฉมการเลี้ยงลูกได้เลย


มายิม เบียลิก (Mayim Bialik) เป็นที่รู้จักในฐานะอัจฉริยะคนหนึ่งในซีรีส์ซิทคอมเรื่อง ทฤษฎีวุ่นหัวใจ (The Big Bang Theory) แต่จริง ๆ แล้วเธอเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถมากมาย เธอเป็นนักแสดงและเป็นนักประสาทวิทยา แต่อาชีพที่เบียลิกชื่นชอบมากที่สุดก็คือการเป็นคุณแม่ลูกสอง มุมมองในเรื่องการเลี้ยงลูกของเธอทั้งทันสมัยและเฉพาะตัว และแนวคิดบางอย่างก็ควรค่าแก่การลองทำตามจริง ๆ

ชีวิตสดใสได้รวบรวม 8 วิธีการเลี้ยงลูกที่เบียลิกเลือกทำกับลูก ๆ ของเธอที่คุณอาจจะต้องพิจารณาทำบ้างมาให้อ่านกัน

1. ลูก ๆ ของเธอเรียนหนังสือที่บ้าน

มายิม เบียลิกไม่เห็นด้วยกับบรรยากาศการเรียนหนังสือแบบพื้นฐานทั่วไป เธอจึงตัดสินใจจัดการเรื่องต่าง ๆ และสอนหนังสือให้ลูกเธอเองที่บ้าน เธอกล่าวว่าสิ่งนี้ทำให้ลูกชายของเธอมีพัฒนาการได้ตามจังหวะก้าวของเขาเอง และช่วยให้พวกเขาทำสิ่งที่พวกเขามีความสนใจมาก ๆ ได้ด้วย เด็ก ๆ จะได้ทั้งหมดนี้ในขณะที่เน้นเรื่องของจินตนาการและการเล่นไปพร้อมกัน

2. เธอให้นมลูก ๆ ของเธอเองจนโต

มายิม เบียลิกเห็นด้วยกับแนวคิดการให้นมจากอกแก่ลูกของเธอแม้ลูกจะเริ่มเข้าวัยเตาะแตะแล้ว ขณะที่แม่ส่วนใหญ่จะพยายามให้นมลูกเองให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เบียลิกให้ลูก ๆ เธอตัดสินใจเองว่าอยากจะหย่านมตอนไหน ด้วยประโยชน์จากการให้นมเองนี่แหละ ทำให้ลูก ๆ ของเธอโตขึ้นมาเป็นเด็กที่ร้องไห้งอแงไม่บ่อยมากนัก และรู้สึกใกล้ชิดกับแม่ของพวกเขามากขึ้นด้วย

3. เธอสอนลูกขับถ่ายโดยไม่ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป

ไม่มีใครชอบเปลี่ยนผ้าอ้อมหรอก แต่ก็ดูเหมือนว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่คงจะไม่เลือกให้ลูก ๆ พวกเขาไม่ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเลย ถึงอย่างนั้นก็ตาม มายิม เบียลิกกลับไม่มีปัญหากับผ้าอ้อมสกปรกเพราะเธอเลือกที่จะไม่ใช้มันเลย เธอตัดสินใจสอนลูกขับถ่ายโดยไม่ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแทน ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องสัญญาณจากเด็กเวลาที่พวกเขาอยากจะขับถ่าย เธอกล่าวว่าพอคุณดูออกแล้วว่าสัญญาณนั้นคืออะไร ที่คุณต้องทำก็คืออุ้มลูกขึ้นกระโถนแล้วก็ให้สัญญาณ (ยกตัวอย่างเช่น ส่งเสียงอะไรสักอย่าง) ที่พวกเขาจะตอบสนอง

4. เธอไม่ซื้อของขวัญคริสต์มาสแพง ๆ

ในแต่ละปี ลูก ๆ ของเธอจะได้ของขวัญในช่วงวันเทศกาล ขณะที่เธอไม่มีปัญหากับการที่ลูก ๆ ได้ของขวัญจากปู่ย่าตายาย แต่เธอก็เลือกที่จะไม่ทำเหมือนกับพวกท่าน เบียลิกและอดีตสามีของเธอตัดสินใจจะให้ของเล่นกับพวกเขาหนึ่งชิ้น หรือให้ถุงเท้ากับชุดนอนถ้าพวกเขาต้องการจริง ๆ เหตุผลเบื้องหลังการกระทำนี้ก็คือลูก ๆ ของเธอมีทุกอย่างที่พวกเขาต้องการอยู่แล้ว ในขณะที่ “มีคนอีกมากมายที่ยังขาดแคลนเหลือเกิน” และเธอเลือกที่จะบริจาคให้กับโครงการที่ช่วยคนที่ต้องการในสิ่งจำเป็นต่าง ๆ มากกว่าใช้เงินไปกับของขวัญแพง ๆ

5. เธอใช้การฝึกฝนในเชิงบวกทั้งหมด

มายิม เบียลิกใช้การฝึกฝนในเชิงบวกและผสมผสานลักษณะการสื่อสารที่ไม่เป็นพิษระหว่างเธอกับลูก ๆ ของเธอ นี่หมายถึงว่าเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะไม่มีการตะโกนใส่ ไม่มีการเตือน ไม่มีการสั่งให้ไปสำนึกผิด หรือแม้แต่การดุด่า เธอจะพยายามอธิบายทุกอย่างกับลูก ๆ ของเธอด้วยกริยาที่ใจเย็น ใช้การโต้แย้งแบบมีเหตุผล ที่พวกเขาสามารถทำความเข้าใจได้แทน

กฎพื้นฐานของเธอก็คือคุณควรจะปฏิบัติกับลูก ๆ ของคุณในแบบที่คุณอยากให้มีคนปฏิบัติกับตัวคุณเอง เพราะความสัมพันธ์ที่ดีนั้นอยู่บนฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ดังนั้น วิธีนี้จะไม่ทำให้ลูกของคุณกลัวคุณและมันยังช่วยให้พวกเขารู้จักฝึกฝนการควบคุมตัวเองด้วย

6. เธอสนับสนุนการนอนเตียงเดียวกัน

การนอนเตียงเดียวกันก็เป็นอีกมุมที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงลูกแบบอยู่ใกล้ชิดกับลูก มันคือรูปแบบการอุ้มลูกแนบอกในตอนกลางคืนนั่นเอง เนื่องจากการเลี้ยงลูกแบบใกล้ชิดเป็นเรื่องของการอยู่ใกล้กับลูกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงชัดเจนว่าทำไมมายิม เบียลิกจึงเลือกที่จะนอนเตียงเดียวกับลูก ๆ ของเธอ เธอกล่าวว่าการนอนเตียงเดียวกันช่วยทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาแข็งแรงขึ้น ป้องกันความวิตกกังวลจากการแยกกัน และช่วยให้เด็ก ๆ นอนได้นานขึ้นและหลับได้ดีขึ้นด้วย

7. ลูกของเธอจะถูกจำกัดการใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มงวด

แม้ว่ามายิม เบียลิกจะเป็นดาราทีวี แต่ลูก ๆ ของเธอกลับไม่ค่อยได้เห็นเธอในทีวีเท่าไร เพราะในบ้านของเธอมีกฎเกี่ยวกับเทคโนโลยีอยู่ ลูก ๆ ของเธอไม่ได้รับอนุญาตให้ดูภาพยนตร์หรือโทรทัศน์ เพราะเธอไม่ต้องการให้บุคลิกลักษณะและตัวตนของพวกเขาได้รับอิทธิพลหรือถูกกดดันอ้อม ๆ จากสื่อ อันที่จริง วิดีโอแรกที่ลูกชายของมายิมได้ดูคือวิดีโอการคลอดลูกที่บ้าน เพื่อเตรียมการเขาสำหรับการคลอดน้อง เขายังได้อยู่ตอนที่น้องเขากำลังคลอดออกมาด้วย เขาทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสายสะดือ

8. ไม่ส่งเสริมให้ลูกพูดคำว่า “ได้โปรด” และ “ขอบคุณ”

ขณะที่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ถูกสอนตั้งแต่ยังเด็กมาก ๆ ให้พูดคำว่า “ได้โปรดเถอะครับ/ค่ะ” และ “ขอบคุณครับ/ค่ะ” เบียลิกตัดสินใจที่จะสอนพวกเขาแบบตรงกันข้ามเลย เธอแนะนำไม่ให้ลูก ๆ ของพวกเธอใช้คำเหล่านั้นเลย เธอต้องพูดเรื่องนี้กับเพื่อน ๆ และครอบครัวของเธอด้วย เพื่อแจ้งให้พวกเขารู้ว่าไม่ต้องคาดหวังให้ลูก ๆ ของเธอพูดคำเหล่านี้ เธอเชื่อว่าการแสดงออกที่จริงแท้และเป็นธรรมชาติของการรู้สึกขอบคุณมันสำคัญกว่าการพูดคำเหล่านั้นซ้ำ ๆ ตามมารยาท เพราะเมื่อทำ ๆ ไปเรื่อยจนเคยชิน คำเหล่านี้ก็จะสูญเสียความหมายที่แท้จริงของมันไป

คุณคิดยังไงบ้างกับการเลี้ยงลูกในแนวทางนี้ ? มีวิธีไหนที่คุณอยากจะแนะนำให้กับพ่อแม่คนอื่น ๆ หรือไม่ ? บอกให้เรารู้ในคอมเมนต์หน่อยนะ !

เครดิตภาพพรีวิว missmayim / Instagram, missmayim / Instagram
ชีวิตสดใส/ครอบครัว & เด็ก/กฎ 8 ข้อที่มายิม เบียลิกใช้กับลูก ๆ ของเธอซึ่งสามารถพลิกโฉมการเลี้ยงลูกได้เลย
แชร์บทความนี้