ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

ทำไมยางกัดสำหรับเด็กจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ดี กับ 14 ความเชื่อในการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ควรลืมไปซะ

เราควรโกนผมเด็กน้อยเพื่อให้ผมที่งอกมาใหม่หนาขึ้นจริง ๆ น่ะหรือ เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่ออายุ 3 ขวบจริงรึเปล่า นี่เป็นเพียงความเชื่อแค่ไม่กี่เรื่องที่พ่อแม่ต้องเผชิญเมื่อต้องเลี้ยงลูกสักคน คำแนะนำที่ไม่เป็นที่ต้องการและความเชื่อทางไสยศาสตร์เหล่านี้มาได้จากทุกที่ และเมื่อถึงจุดหนึ่งคุณอาจจะอยากรู้เช่นกันว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริงกันแน่ หรือเรื่องไหนเป็นเพียงแค่ความเชื่อคร่ำครึโบราณเท่านั้น

ชีวิตสดใสตัดสินใจที่จะค้นหาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมาหักล้างความเชื่อที่พ่อแม่ทั่วโลกต่างเคยได้ยินหรือเคยอ่านผ่านตาในโลกอินเทอร์เนตกันมาแล้ว และนี่ก็คือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญถึงความเชื่อต่าง ๆ ที่แพร่หลายกันในหมู่ผู้ปกครอง

ความเชื่อที่ 1: ยางกัดฟันสำหรับเด็กเป็นสิ่งจำเป็น

เหล่านักแก้ไขการพูดในเด็กเล็ก (Baby speech therapists) ชี้ว่ายางกัดฟันสำหรับเด็กนั้นอาจส่งผลต่อการพูดของเด็กได้ ดูเหมือนว่าเด็ก ๆ ที่ชอบเคี้ยวยางกัดฟันจะไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของเสียงต่าง ๆ ได้เพราะลิ้นและประสาทการได้ยินนั้นอยู่เชื่อมต่อใกล้เคียงกันมาก แม้เด็กทารกจะยังพูดไม่ได้ แต่พวกเขาก็ใช้ลิ้นของตัวเองในการทำความเข้าใจคำพูดต่าง ๆ นะ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ลิ้น “ยุ่ง” อยู่กับยางกัดฟัน ความสามารถนี้ก็จะสูญเสียไปชั่วคราวยังไงล่ะ

ความเชื่อที่ 2: เด็ก ๆ จะหลับไปเองถ้าพวกเขาเหนื่อย

คุณเคยได้ยินคำว่า “ก๊อกสอง” ไหม ? เช่นเมื่อพ่อแม่เหนื่อยมากแล้วแต่เด็กทารกยังตื่นเต็มตาเพราะพวกเขายังคงอยากปลดปล่อยพลังในยามค่ำคืน ? คนส่วนมากมักจะหลับเมื่อตัวเองเหนื่อยล้า แต่ทารกเป็นข้อยกเว้นนะ
เด็กทารกที่เหนื่อยมากเกินไปอาจมีอารมณ์คึกขึ้นมาได้และเริ่มวิ่งวนไปทั่ว และบางครั้งสิ่งนี้ก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก เมื่อเด็ก ๆ เหนื่อยมากขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้พวกเขาหลับได้ยากขึ้น และพวกเขาก็จะตื่นขึ้นมาคืนละหลายครั้งอีกด้วย

ความเชื่อที่ 3: ลูกของคุณควรจะได้รับการฝึกให้นั่งส้วมได้ก่อนที่จะอายุครบ 18 — 24 เดือน

ความจริงก็คือไม่ได้มีช่วงเวลาบังคับอะไรว่าควรจะเริ่มฝึกตั้งแต่เมื่อไหร่ กุมารแพทย์อธิบายไว้ว่าพ่อแม่อาจจะอยากฝึกให้ลูก ๆ นั่งส้วมได้เร็วเพราะผ้าอ้อมเป็นของใช้ที่มาราคาแพงมาก แต่เด็กน้อยอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการฝึกนี้ก็ได้ สมาคมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของอเมริกา (American Academy of Family Physicians) ชี้ว่าการฝึกให้ลูกนั่งส้วมนั้นควรเริ่มในช่วงระหว่าง 21 — 36 เดือน และการที่เริ่มหัดลูกได้ก่อนที่จะอายุครบ 27 เดือนก็ไม่ได้มีข้อดีอะไรใหญ่หลวงขนาดนั้นหรอก

ความเชื่อที่ 4: เด็ก ๆ คงไม่ได้รับผลกระทบอะไรหรอก หากเปิดเสียงทีวีคลอไว้เบา ๆ

เราทุกคนต่างเคยทำสิ่งนี้กันมาแล้วไม่มากก็น้อย เรามักจะเปิดทีวีไว้เพื่อให้มีเสียงคลอเบา ๆ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ตั้งใจดูนัก มีผลการศึกษามากมายที่ชี้ว่า หากมีเด็กอายุน้อยอยู่ในบ้าน พยายามอย่าเปิดทีวีทิ้งไว้จะดีกว่า เพราะเด็กเล็ก ๆ ไม่สามารถที่จะ “ทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน” ได้ ดังนั้นหากมีเสียงทีวีเปิดคลออยู่ เสียงนั้นจะเข้าไปรบกวนการเล่นของพวกเขาและทำให้พวกเขาหันเหความสนใจออกมาจากการเรียนรู้ขณะที่ควรจะเล่นอย่างจดจ่อ เสียงทีวีที่เปิดคลอไว้อาจชะลอพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ๆ ที่อายุต่ำว่า 2 ขวบได้ นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ว่าไว้ หรือถ้าเป็นเด็กที่อายุมากกว่า 2 ขวบ พวกเขาอาจได้ยินอะไรที่ไม่เหมาะสมกับวัยของพวกเขาเข้า และอาจจดจำสิ่งนั้นไปใช้เป็นประจำในชีวิตประจำวันเลยก็ได้

ความเชื่อที่ 5: เด็ก ๆ จำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้ให้ทันก่อนที่อายุจะครบ 3 ขวบ มิเช่นนั้นแล้วจะเสียโอกาสทองไป

ความเชื่อนี้ถือว่าเป็นความเชื่อที่อันตรายที่สุดเลยก็ว่าได้ ทั้งต่อตัวเด็กเองและผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผลมาจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการทำงานของสมองของมนุษย์ แต่กลับเป็นความเชื่อที่โด่งดังไปทั่วเมื่อนานมาแล้ว โดยความเชื่อนี้เคยได้รับการอธิบายไว้แล้วเมื่อปี 1999 ในหนังสือของจอห์น ที บรูเออร์ (John T. Bruer) ว่าการสูญเสียการเชื่อมต่อทางประสาทหลังจากอายุ 3 ขวบ ไม่ได้หมายความว่าทารกจะมีไอคิวต่ำหากไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสม

นั่นหมายความว่า เด็กทารกจะสร้างปฏิกิริยาตอบสนองรูปแบบเฉพาะบางอย่างกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าประทับที่ใจที่สุดในชีวิตของพวกเขาจนถึงอายุ 3 ขวบ ซึ่งสิ่งที่สร้างไว้เหล่านี้จะยังคงทิ้งร่องรอยที่ฝังรากลึกไว้ในสมองของพวกเขา อย่างไรก็ตาม สมองของมนุษย์นั้นเป็นพลาสติก (ชีวิตสดใส: หมายความว่าความสามารถของสมองมนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา) และเหตุการณ์สำคัญของเด็กอายุ 3 ขวบก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเลย

ความเชื่อที่ 6: ของเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจสมัยใหม่มีผลดีมากต่อพัฒนาการทางสมอง

ของเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจสมัยใหม่ที่โฆษณาว่าเป็นของเล่น “เพื่อการเรียนรู้” ที่เหล่าผู้ผลิตต่างอ้างว่าของเล่นเหล่านี้สามารถสอนให้เด็ก ๆ พูดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหล่านักจิตวิทยาชี้ว่า ของเล่นเหล่านี้กลับ “ฆ่า” จินตนาการของเด็ก ๆ ต่างหาก เพราะมันทำทุกอย่างแทนตัวเด็กทั้งหมดและไม่ได้กระตุ้นให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ใด ๆ เลย วิธีที่ดีที่สุดที่ของเล่นสักชิ้นหนึ่งจะสามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางด้านภาษาในทารกและเด็กเล็ก ๆ ได้ ก็คือการที่ของเล่นชิ้นนั้นต้องกระตุ้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กต่างหาก

ความเชื่อที่ 7: รถหัดเดินสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เริ่มหัดเดินได้

ถึงแม้ว่าลูกของคุณจะใช้รถหัดเดินนี้ภายใต้การดูแลจนไม่ได้หลับไม่ได้นอนของคุณมากแค่ไหนก็ตาม ก็ยังมีแนวโน้มว่าเจ้าของสิ่งนี้จะสามารถทำร้ายลูกคุณได้อยู่ดี พวกมันสามารกระตุ้นความแข็งแรงของกล้ามเนื้อผิดตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นที่บริเวณขา หรือข้อต่อของเด็ก ๆ รวมไปถึงหัวเข่า ซึ่งอาจไปสร้างแรงกดเพิ่มเติมให้กับส่วนนั้น ทำให้กระดูกอาจจะก่อรูปผิดแบบไปได้เลยด้วยซ้ำ และเพราะความเสี่ยงเหล่านี้ รถหัดเดินจึงถูกสั่งห้ามอย่างเป็นทางการในประเทศแคนาดามาตั้งแต่ปี 2004

ความเชื่อที่ 8: การโกนผมเด็กทารกจะช่วยให้ผมที่ขึ้นมาใหม่หนาขึ้น

ความเชื่อที่ได้รับความนิยมกันไปอย่างแพร่หลายนี้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์แม้แต่น้อย ว่าการโกนศีรษะของเด็กทารกนั้นจะทำให้ผมที่ขึ้นมาในอนาคตหนาขึ้นหรือไม่ เหล่านักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าโครงสร้างของเส้นผมนั้นถูกกำหนดด้วยพันธุกรรมเป็นหลัก และมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้มันเปลี่ยนแปลงไปได้ นั่นก็คือหลังให้คีโมบำบัดต่างหาก

ความเชื่อที่ 9: เอาลูกเข้านอนดึก = จะทำให้เด็กทารกหลับยาวนานขึ้นจนถึงเช้า

การนอนหลับของเด็กน้อยเรียกได้ว่าเป็นความใฝ่ฝันของพ่อแม่หลายคนเลยก็ว่าได้ จริง ๆ แล้วความคิดที่ว่าเด็ก ๆ จะนอนนานขึ้น หากให้เด็กเข้านอนดึกนั้นเป็นความเชื่อที่ได้ยินกันมาหนาหูมาก แต่เด็ก ๆ จะยิ่งนอนหลับได้ดีขึ้นและยาวนานขึ้นหากพวกเราเอาพวกเขาเข้านอนให้เร็วหน่อยตั้งแต่หัวค่ำต่างหาก เด็ก ๆ นั้นมี “นาฬิกาภายในร่างกาย” เป็นของตัวเอง และพวกเขาจะตื่นขึ้นมาประมาณเวลาเดียวกันกับที่เคยทำเสมอ ไม่ว่าจะเข้านอนดึกหรือไม่

ความเชื่อที่ 10: เมื่อพ่อแม่ “ใช้เสียงสอง” พูดคุยกับลูก สิ่งนี้สามารถชะลอพัฒนาการด้านภาษาของเด็กได้

“การพูดเสียงสอง” หรือ “การใช้ภาษาเด็กเล็ก” จริง ๆ แล้วมีประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านภาษาและการพูดของเด็กน้อยนะ เสียงที่คล้าย ๆ กับการร้องเพลงที่พ่อแม่มักใช้พูดคุยกับเด็กเล็ก ๆ บอกให้เด็ก ๆ รู้ว่าประโยคเหล่านั้นกำลังสื่อสารกับพวกเขาอยู่ และพวกเขาก็จะให้ความสนใจมากขึ้นว่าพ่อแม่กำลังพูดอะไร การใช้ “เสียงสอง” ยังทำให้เด็กทารกสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเสียงและคำพูดออกจากกันได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าสิ่งนี้ดีแค่กับเด็กทารกเท่านั้นนะ ไม่แนะนำให้ใช้เสียงเหล่านี้ในการสื่อสารกับเด็กเล็กหรือเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย

ความเชื่อที่ 11: รายการทีวีเพื่อการศึกษา แอปต่าง ๆ และบัตรคำศัพท์สามารถช่วยสอนให้เด็ก ๆ พูดได้

เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขาได้เล่นและมีการสื่อสารในชีวิตจริง มีนักจิตวิทยากล่าวว่าทีวีไม่ได้ทำให้เด็กโง่ลง แต่ทักษะทางด้านภาษาของพวกเขาไม่สามารถพัฒนาขณะที่ดูทีวีอยู่ต่างหาก ทางที่ดีที่สุดที่จะสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ และสอนภาษาให้ลูก ๆ คือการพูดคุยโต้ตอบกับพวกเขาในสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาคุ้นเคยต่างหาก

คุณสามารถสอนคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้ลูกหรือเล่นกับพวกเขาแบบตัวต่อตัวก็ได้ การปฏิสัมพันธ์กันตามธรรมชาตินี้จะมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กจะได้ใช้โดยตรงมากกว่า และเป็นไปได้ที่จะเป็นการสร้างความประทับใจอย่างมากให้กับลูกของคุณ และเป็นการช่วยให้พวกเขาเข้าใจและใช้คำต่าง ๆ ในบริบทอื่น ๆ ได้

ความเชื่อที่ 12: พ่อแม่ที่ไม่ดีจะปล่อยลูกให้เล่นโดยไม่อยู่ดูแลอย่างใกล้ชิด

จริง ๆ แล้วพ่อแม่สามารถปล่อยลูก ๆ ให้อยู่ตามลำพังในบริเวณที่ปลอดภัยได้นะ (ขึ้นอยู่กับอายุของลูกและขึ้นอยู่กับว่ามีใครคนอื่นอยู่รอบ ๆ หรือไม่) ยิ่งพ่อแม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการละเล่นของเด็ก ๆ มากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ เด็กเล็ก ๆ ก็จะทำตามการนำของพ่อแม่มากขึ้นเท่านั้น และพวกเขาจะไม่ได้เรียนรู้วิธีที่จะสามารถสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง และไม่ได้เรียนรู้ว่าตัวเองสามารถเป็นแหล่งสร้างความสนุกสนานให้แก่ตัวเองได้ ถึงแม้ว่าการที่พ่อแม่เล่นกับลูก ๆ จะเป็นเรื่องดี แต่การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สนุกไปกับการเล่นที่เด็กเป็นคนนำการเล่นเองก็ยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาเช่นกัน นอกจากนี้ การเล่นเพียงลำพังยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ อีกด้วย เพราะพวกเขาจะสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาเองแทนที่จะให้แม่เป็นคนมาบอกให้ลองทำแบบนั้นหรือแบบนี้

ความเชื่อที่ 13: มีขวดนมและจุกดูดนมที่ออกแบบมาดีและไม่ดีปะปนกัน

ไม่มีความลับในการออกแบบขวดนมได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนสามารถที่จะช่วยให้เด็กทุกคนหย่านมแม่ไปดื่มนมจากขวดได้จริง ๆ หรอกนะ แล้วก็ไม่มีการออกแบบที่ดีเยี่ยมที่จะช่วยป้องกันให้เด็กทุกคนกินนมไม่หกหรือไม่เรอได้ นั่นก็เพราะเด็กทารกทุกคนล้วนมีความแตกต่างกัน และพวกเขายังมีลักษณะเฉพาะทางกายวิภาคที่แตกต่างกันอีกด้วย แถมยังมีความชื่นชอบที่ไม่เหมือนกันอีกต่างหาก อาลี วิง (Ali Wing) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทกิ๊กเกิล (Giggle) กล่าวว่ามีพ่อแม่บางคนที่ออกมาตำหนิว่าน้ำนมมักไหลออกมาจากขวดนมและจุกนมไม่หยุด แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของรูปแบบการดูดนมของเด็กแต่ละคนต่างหาก และยังรวมถึงลักษณะของริมฝีปากของเด็กที่แตกต่างกันไปด้วย ทางเลือกที่ดีที่สุดของพ่อแม่ก็คือให้ลองซื้อขวดนมและจุกดูดนมที่แตกต่างกันมาสักสองสามแบบ และลองเอามาทำการทดสอบดูว่าแบบไหนที่เข้ากันได้กับรูปแบบการดูดนมของลูกคุณที่สุด

ความเชื่อที่ 14: การติดพี่เลี้ยงเป็นเรื่องไม่ดี ซึ่งคุณต้องป้องกันสิ่งนี้

คุณเป็นคนทิ้งลูกของคุณไว้กับพี่เลี้ยง แต่แล้วทันใดนั้นสัญชาตญาณความเป็นแม่กลับกรีดร้องเมื่อเห็นลูกน้อยของคุณเริ่มผูกพันกับคนที่ดูแลพวกเขา นักจิตวิทยาบอกไว้ว่า มันเป็นเรื่องจริงที่ว่าเด็กทารกจะเห็นว่าพี่เลี้ยงเป็นผู้ปกครองอีกคนหนึ่งของพวกเขา แต่ความผูกพันกับพี่เลี้ยงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะนั่นเท่ากับว่าลูกน้อยของคุณกำลังได้เรียนรู้ที่จะสร้างสายสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ และเริ่มเชื่อใจคนอื่น ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เด็ก ๆ ที่มีคนให้พวกเขารู้สึกไว้วางใจได้มากขึ้น จะยิ่งรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และมีความเคารพนับถือในตัวเองสูงกว่าเด็ก ๆ ที่จะรู้สึกปลอดภัยก็ต่อเมื่อต้องอยู่ใกล้พ่อกับแม่ของตัวเองเท่านั้น

ความเชื่อที่ 15: เสียงร้องทุกเสียงของเด็กทารกเหมือนกันหมดนั่นแหละ

จริง ๆ แล้วเด็กทารกมีภาษาการร้องไห้เป็นของตัวเองเลยนะเวลาที่พยายามสื่อสารกับพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นร้องเพราะหิว ง่วง หรือเรียกแม่ให้มาเปลี่ยนผ้าอ้อม ทั้งหมดนี้จะไม่เหมือนกันเลยถ้าคุณตั้งใจฟังให้ดี ๆ นักจิตวิทยาชี้ว่าใช้เวลาไม่นานนักหรอก เดี๋ยวคนเป็นพ่อเป็นแม่ก็จะสังเกตเห็นรูปแบบเหล่านี้ได้เอง มันอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่ผู้ปกครองจะสามารถเรียนรู้ได้จริง ๆ ว่าจะถอดรหัสเสียงร้องไห้ของลูกน้อยได้อย่างไร อ้างอิงจากผลการสำรวจ พ่อแม่หลายคนกล่าวว่าเสียง “โอว” อาจจะหมายถึงว่าลูกน้อยเหนื่อยแล้วนะ (ห่อปากเป็นรูปตัวโอเลียนแบบการหาว) “เอ๋” หมายถึง “จับหนูเรอหน่อย” (กล้ามเนื้อหน้าอกเกร็งกระชับขึ้นทำให้เกิดเสียงนี้) และเสียง “เนะ” หมายถึงว่าลูกกำลังหิว

มีความเชื่อโบราณเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกอะไรอีกที่คุณเคยได้ยินมาจนคุณต้องไปกูเกิลหาดูเลยว่าเป็นเรื่องจริงไหม ?

เครดิตภาพพรีวิว Depositphotos.com, Shutterstock.com
แชร์บทความนี้