ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

วิธีตรวจหน้าอกด้วยตัวเอง และ 7 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

เดือนตุลาคมคือเดือนแห่งการรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer Awareness Month) หรือที่รู้จักกันในชื่อแคมเปญ พิงก์ทูเบอร์ (Pinktober) แต่นั่นไม่ควรจะเป็นเดือนเดียวที่เราควรใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง และระมัดระวังใส่ใจกับเรื่องของมะเร็งเต้านม โดยอ้างอิงจากศูนย์มะเร็ง จอนส์ ฮอปกินส์ คิมเมล (Johns Hopkins Kimmel Cancer Center) พบว่า 40% ของการวินิจฉัยพบโรคมะเร็งในเต้านมตรวจเจอจากผู้หญิงที่รู้สึกถึงก้อนในเต้านม ซึ่งนั่นหมายความว่าการตรวจร่างกายตนเองอย่างเป็นประจำนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ชีวิตสดใสรู้สึกว่าเราควรจะทำความคุ้นเคยกับหน้าอกของเราให้ดีไว้นะ เพื่อเราจะได้ไปหาคุณหมอได้ทันเวลาหากเราพบว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติไป

ควรตรวจดูเมื่อไหร่

การตรวจคัดกรองทางคลินิกที่เรียกว่าการตรวจแมมโมแกรมนั้นควรตรวจเป็นประจำทุกปี หากคุณเป็นสุภาพสตรีที่มีอายุเกิน 40 ปีหรือมากกว่านั้น แต่หญิงสาวที่โตแล้วไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็สามารถตรวจได้ด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจคือประมาณ 3 — 5 วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือนวันแรก อย่างไรก็ให้แน่ใจว่าคุณจะทำเป็นประจำในวันที่เดียวกันทุก ๆ เดือนก็แล้วกัน

การตรวจนี้ควรจะทำในขณะที่ยืนส่องกระจก เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของทรวงอก นอกจากนี้ยังควรทำขณะที่นอนอยู่บนเตียง ผู้หญิงหลายคนจะมักพบว่าสามารถสัมผัสกับทรวงอกของตัวเองได้ดีที่สุดในขณะที่ผิวหนังเปียกลื่น ดังนั้นการตรวจระหว่างที่กำลังอาบน้ำไปด้วยก็เป็นวิธีที่ดีเช่นกัน

วิธีตรวจ

คุณสามารถมองหาร่องรอยที่ปรากฏให้เห็นได้ว่าทรวงอกของคุณควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ ซึ่งมี 2 −3 วิธีในการตรวจแบบนี้:

  1. ยืนแนบแขนข้างลำตัวในท่วงท่าที่สบาย
  2. ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ โน้มตัวไปข้างหน้า
  3. โก่งหลังในขณะที่วางสองมือไว้บนสะโพก
  4. บีบเบา ๆ ที่หัวนมเพื่อดูว่ามีของเหลวผิดปกติอะไรไหลออกมาหรือไม่

นอกจากการมองด้วยตาเปล่าแล้ว คุณควรสัมผัสว่ามีอะไรที่รู้สึกไม่คุ้นเคยหรือไม่ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ โดยการใช้มือขวาสัมผัสเต้านมด้านซ้ายและสลับข้าง คุณสามารถไล่นิ้วไปใน 3 ทิศทาง ดังนี้:

  1. จากบนลงล่าง จากล่างขึ้นบน
  2. วนเป็นวงกลม
  3. ไล่จากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง

สัญญาณว่าคุณอาจต้องไปพบแพทย์

กรณีต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรระวังให้ดีระหว่างที่กำลังตรวจหัวนมของคุณ:

  1. กรณีที่มีของเหลวคล้ายน้ำใส ๆ น้ำนม หรือน้ำเหลือง ๆ หรือเลือดไหลออกมาให้เห็น
  2. กรณีที่รูปทรงของทรวงอกผิดปกติไป
  3. กรณีที่ตำแหน่งของหัวนมเปลี่ยนแปลงไปหรือผลุบเข้าไปแทนที่จะยื่นออกมา
  4. กรณีที่มีรอยผื่น รอยแดง หรือบวม

นอกจากนี้ยังมีสัญญาณในส่วนอื่น ๆ ของทรวงอกที่ต้องระวัง ยกตัวอย่างเช่น:

  1. พบก้อนที่ส่วนใด ๆ ก็ตามบนทรวงอก
  2. ผิวหนังเป็นรอยบุ๋มหรือย่น
  3. ผิวหนังเป็นรอยแดง เจ็บ มีผื่น หรือบวม

ใจเย็น ๆ และไปพบแพทย์

จำไว้นะว่าสำคัญมากที่อย่าตื่นตระหนกเป็นอันขาดหากคุณพบว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น ให้ระลึกไว้ก่อนว่า 60% ถึง 80% ของก้อนเนื้อในเต้านมนั้นไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่คุณควรจะให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเสมอเพื่อความปลอดภัย

คุณตรวจหน้าอกของคุณด้วยตัวเองเป็นประจำไหม ? ที่บ้านคุณเคยมีใครตรวจเต้านมด้วยตัวเองแล้วพบก้อนเนื้อบ้างไหม ? ลองเล่าให้เราฟังหน่อยสิ เพื่อเป็นการบอกต่อข้อมูลน่ารู้เหล่านี้เพื่อเตือนใจผู้หญิงคนอื่น ๆ ยังไงล่ะ !

แชร์บทความนี้