ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

เคยสงสัยกันมั้ย ว่าทำไมเราถึงแทบจำอะไรก่อนเราอายุ 4 ขวบไม่ได้เลยล่ะ

ว่ากันว่านิสัยของเรานั้นหล่อหลอมมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก แต่น่าขันไหมที่เราแทบจำอะไรไม่ได้เลยนะในสมัยที่เรายังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ ? ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับเกือบทุกคน และมีคำเรียกอย่างเป็นทางการด้วยว่า ภาวะเสียความทรงจำในวัยเด็ก (childhood amnesia) ระหว่างที่เราเติบโตขึ้น เราต่างลืมเลือนผู้คน เหตุการณ์และสถานที่ที่เราเคยพบเจอมาตั้งแต่เราเป็นเด็กด้วยกันทั้งนั้น

ยังคงมีการศึกษาวิจัยหัวข้อนี้กันอยู่มากมายเลยทีเดียว แต่ชีวิตสดใสจะเลือกสรุปข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องมากที่สุดมาให้ทุกคนได้อ่านกันที่ด้านล่างนี้

ภาวะเสียความทรงจำในวัยเด็กคืออะไร และมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันนะ

ภาวะเสียความทรงจำในวัยเด็ก คือการที่ผู้ใหญ่สูญเสียความสามารถในการเรียกความทรงจำอันเป็นรายละเอียดของเรื่องราวเหตุการณ์บางอย่าง หรือแม้กระทั่งลืมเลือนเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนอายุ 4 ขวบ นักวิจัยบางท่านยังได้ทำการค้นหาลงไปลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นและพบว่า เด็ก ๆ ที่อายุยังไม่ครบ 7 ขวบจะสามารถที่จดจำภาพ “เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในวัยแรกเริ่มของชีวิตได้ถึง 60% หรือมากกว่านั้น” ในขณะที่เด็กอายุ 8 และ 9 ขวบ สามารถจดจำได้เพียงไม่เกิน 40% การศึกษานี้เองที่ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าในขณะที่เราผันผ่านการพัฒนาตามช่วงวัยต่าง ๆ ของชีวิตไปเรื่อย ๆ เราก็ยิ่งจะจดจำเรื่องราวก่อนหน้านั้นได้น้อยลงไปทุกที

ความทรงจำของเราสัมพันธ์กับความสามารถในการพูดอย่างมาก

หนึ่งในทฤษฎีที่มาอธิบายเรื่องนี้ว่าทำไมเราถึงไม่มีความทรงจำในสมัยที่เรายังเป็นเด็กทารกเก็บไว้เลย นั่นก็คือในตอนนั้นเรายังไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาพูดได้ เวลาที่เราต้องเรียกความทรงจำของตัวเองกลับมานั้น เราต้องใช้คำเรียกต่าง ๆ และเรายังต้องอธิบายภาพความทรงจำนั้นโดยอาศัยรายละเอียดต่าง ๆ มากมายซึ่งต่างต้องใช้เรื่องของภาษาด้วยกันทั้งสิ้น เด็กทารกส่วนมากจะยังไม่สามารถพูดได้ก่อนช่วงอายุ 2 ขวบ ดังนั้น ณ ตอนนั้นพวกเขาจึงยังไม่สามารถสร้างความทรงจำที่เป็นรูปเป็นร่างปะติดปะต่อกันได้นั่นเอง

การพัฒนาของสมองมีส่วนสำคัญมาก ๆ

ตอนนี้เราจะมาพูดเรื่องคำอธิบายทางชีวภาพของภาวะเสียความทรงจำในวัยเด็กกัน ในขณะที่เราค่อย ๆ โตขึ้น สมองของเราทุกคนก็จะต้องทำงานหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ มีงานศึกษาชิ้นหนึ่งที่สรุปออกมาว่า “ในขณะที่สมองกำลังง่วนอยู่กับการมีเซลล์ใหม่ ๆ เติบโตขึ้นมากมาย สมองก็จะไม่เก็บภาพความทรงจำที่หากเก็บไว้ในตอนนั้นแล้ว ความทรงจำเหล่านั้นอาจจะต้องกลายเป็นความทรงจำระยะยาวในที่สุด” ดังนั้น เราถึงไม่แม้แต่จะสามารถจดจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นวันต่อวันก่อนที่เราจะอายุ 3 — 4 ขวบได้เลย เพราะความทรงจำระยะยาวที่เรียกว่า การจำภาพเหตุการณ์ (episodic memory) ยังไม่ทันตั้งไข่เลยด้วยซ้ำ นั่นคือเหตุผลที่เราจึงมีภาพจำราง ๆ ที่ไม่เป็นรูปเป็นร่างอะไรเลยอยู่ในความทรงจำ เช่น สวนไหนที่คุณเคยไปบ่อย ๆ แต่กลับไม่สามารถจำได้ว่าร้านไอศกรีมไหนที่แม่เคยพาไปกินครั้งหนึ่ง

ผู้ปกครองของเรามีส่วนอย่างมากในการทำให้ภาพจำในบางเหตุการณ์ของเราเปลี่ยนไป

มีอีกงานศึกษาหนึ่งที่ชี้ว่าผู้ปกครองของเราสามารถที่จะเปลี่ยนภาพเหตุการณ์ในวัยเด็กของเราได้ด้วย ลองคิดดูนะว่าพวกเรามีแนวโน้มที่จะจดจำความทรงจำช่วงหนึ่งได้ดีกว่ามาก ถ้าได้รับการเตือนให้ระลึกถึงความทรงจำนั้น เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าในวัยเด็ก เราจะจดจำเฉพาะเหตุการณ์ที่ผู้ปกครองของเราเห็นว่าสำคัญเท่านั้น งานศึกษาชิ้นเดียวกันนี้พบว่าเด็ก ๆ มักจะจำภาพเหตุการณ์เดิมได้ต่างออกไปหลังจากได้กลับไปพูดคุยถึงเหตุการณ์นี้กับคุณพ่อ ซึ่งก็เป็นภาพที่แตกต่างไปจากคุณแม่เช่นกัน เด็ก ๆ นั้นจะมีภาพที่ตรึงอยู่ในใจได้ง่ายมาก ดังนั้นจึงสำคัญมากที่เราควรจะช่วยให้พวกเขาเก็บรักษาไว้แต่เพียงภาพความทรงจำดี ๆ และพวกเขาควรจะมีการรับรู้และมีความเข้าใจต่อภาพเหล่านั้นอย่างถูกต้องด้วย

ที่สุดก็จะเหลือแค่เพียงภาพความทรงจำที่ประทับอยู่ในใจเราไม่รู้ลืม

นักจิตวิทยาเด็กกล่าวไว้ว่าที่สุดแล้ว เด็ก ๆ มักจะเก็บภาพความทรงจำที่เต็มไปด้วยอารมณ์อัดแน่นอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ในด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม สิ่งที่ค้นพบนี้นี่เองที่ทำให้เด็กตัวเล็ก ๆ สามารถให้การเป็นพยานรู้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชั้นศาลได้ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าถ้าคุณสามารถจดจำความทรงจำในวัยเด็กมาก ๆ ได้ แสดงว่าความทรงจำนั้นมีความสำคัญต่อคุณมากที่สุด และอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรงมากได้

เล่าให้เราฟังหน่อยสิว่าคุณจดจำภาพความทรงจำในวัยเด็กของคุณได้ไกลที่สุดแค่ไหน ? คุณจำได้ไหมว่าคุณจดจำภาพความทรงจำในช่วงอายุไหนได้ชัดเจนมากที่สุด ?

ชีวิตสดใส/จิตวิทยา/เคยสงสัยกันมั้ย ว่าทำไมเราถึงแทบจำอะไรก่อนเราอายุ 4 ขวบไม่ได้เลยล่ะ
แชร์บทความนี้