ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

18 ภาพถ่ายที่เปลี่ยนมุมมองของเราที่มีต่อโลกและจักรวาล

เพิ่งผ่านไปแค่ 60 ปี นับตั้งแต่ดาวเทียมสำรวจดวงแรกถูกปล่อยออกสู่อวกาศ และในช่วงเวลาสั้น ๆ นี้เอง เราก็ได้เรียนรู้การสร้างยานอวกาศที่เดินทางไปถึงดาวเคราะห์ดวงอื่นได้ เรายังคงรู้อะไร ๆ เกี่ยวกับจักรวาลน้อยมาก แต่ต้องขอบคุณดาวเทียมสำรวจอวกาศและกล้องโทรทรรศน์ ตอนนี้เราจึงเห็นรูปภาพของวัตถุที่อยู่ห่างไกลอย่างมากในอวกาศได้

ชีวิตสดใสรวบรวมเอาภาพที่ได้รับความนิยมและสวยงามที่สุด ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับโลก ระบบสุริยะ และจักรวาลทั้งหมดของพวกเขา และตอนท้ายของบทความ เราก็มีโบนัสอันน่าทึ่งของมนุษยชาติด้วยนะ

18. อีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์ที่มีโลกเป็นพื้นหลัง

อย่างที่คุณทราบ ดาวบริวารของเราจะหันหน้าเข้าหาเราเฉพาะด้านเดียวเสมอ เรื่องของเรื่องเกิดจากเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกนั้น เท่ากับเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบแกนกลางของตัวเองพอดี อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้เห็นดวงจันทร์ด้านเดียวตลอดเวลา อย่างเช่นในอาร์กติกเราจะเห็นฝั่งขั้วใต้ และเห็นฝั่งขั้วเหนือตอนอยู่ในแอนตาร์กติกา

17. วิวัฒนาการของดาวพลูโต

พลูโตออกจากการเป็นดาวเคราะห์ดวงที่เก้าในระบบสุริยะเมื่อปี 2006 และตอนนี้ก็เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์แคระ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านของมันอย่างเอริสและเซเรส แล้วเอริสก็เป็นเหตุผลที่ทำให้พลูโตตกจากลำดับดาวเคราะห์ด้วย เอริสเคยจะได้บันทึกชื่อเป็นดาวเคราะห์ดวงที่สิบในระบบสุริยะ แต่ระหว่างการหารือ นักวิทยาศาสตร์ตกลงว่าทั้งเอริสและพลูโตไม่มีดวงไหนที่เหมาะสมพอกับคำนิยามของการเป็นดาวเคราะห์เลย

16. ดูนี่ซะ สมาคมคนที่เชื่อว่าโลกแบน

ภาพนี้ถ่ายที่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งตามที่ช่างภาพคิด คาดว่านี่จะเป็นจุดจบของทฤษฎีโลกแบน อย่างไรก็ตาม ก็มีความคิดเห็นว่านี่เป็นภาพจากมุมมองแบบฟิชอาย และภาพถ่ายด้วยเลนส์โค้ง แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือภาพนี้ดึงดูดความสนใจไปที่ปริมาณขยะบนยอดเอเวอเรสต์ ซึ่งรวมถึงธงที่คนที่พิชิตยอดเขาได้ทิ้งเอาไว้

15. เนบิวลาฟองสบู่

เนบิวลาฟองสบู่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 7,100 ปีแสงในกลุ่มดาราจักรแคสสิโอเปีย เส้นผ่านศูนย์กลางของเนบิวลานี้คือ 7 ปีแสง ซึ่งมากกว่าระยะห่างจากดวงอาทิตย์และเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดอย่างอัลฟาเซนเทารีถึง 1.5 เท่า เนบิวลานี้ได้รับการค้นพบในปี 1787 โดย วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) แต่เราเพิ่งได้รูปถ่ายรายละเอียดในปี 2016 นี้เอง ซึ่งต้องขอบคุณกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล
อายุของดาวฤกษ์ที่ก่อตัวเป็นเนบิวลาคือราว 4 ล้านปี และมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 45 เท่า นี่เป็นดาวฤกษ์ที่ร้อนอย่างมหาศาล อายุขัยของมันไม่ยืนยาวนัก และตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ ในอีก 10-20 ล้านปี เนบิวลานี้ก็จะระเบิดกลายเป็นซูเปอร์โนวา

14. การปล่อยจรวดฟัลคอน 9 พร้อมดาวเทียมไฮสปารัท 30W-6

วันที่ 6 มีนาคม ปี 2018 จรวดฟัลคอน 9 ส่งดาวเทียมสื่อสารไปยังวงโคจรของโลก ซึ่งจะทำงานไปอีกนานถึง 15 ปี นี่เป็นการปล่อยดาวเทียมครั้งที่ 50 ของสเปซเอ็กซ์ และเป็นดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่บริษัทของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เคยปล่อยขึ้นสู่วงโคจร
ฟัลคอน 9 มีความพิเศษเพราะในขั้นแรกอาจใช้งานได้หลายครั้ง แต่ครั้งนี้เพราะประเด็นทางเทคนิคบางอย่าง จึงไม่สามารถลงจอดได้

13. ชั้นบรรยากาศของโลกและดวงจันทร์

ภาพถ่ายของดวงจันทร์จากหน้าชั้นบรรยากาศของโลก

12. สถานีอวกาศนานาชาติเบื้องหน้าดวงจันทร์

องค์ประกอบส่วนแรกของสถานีอวกาศนานาชาติถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรของโลกในปี 1998 วันนี้สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS อยู่เหนือพื้นผิวของดาวเคราะห์ราว 400 กม. และมีความเร็วโคจรราว 27,000 กม./ชม. วันนี้ราคาเบ็ดเสร็จของสถานีอวกาศนี้คือ 4,872 ล้านล้านบาท (150,000 ล้านดอลลาร์)

11. การระเบิดของยอดเขาซารืยเชฟในหมู่เกาะคูริล

ยอดเขาซารืยเชฟอยู่บนเกาะมาทัว ซึ่งเป็นหนึ่งในเกาะของหมู่เกาะคูริล นี่ก็คือภูเขาไฟที่ยังไม่ดับซึ่งระเบิดมา 11 ครั้งในช่วง 250 ปีที่ผ่านมา การระเบิดครั้งสุดท้ายคือในปี 2009 และนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ก็จับภาพไว้ได้ การระเบิดนั้นมีพลังมหาศาลมาก จนทำให้ชายฝั่งมีขนาดยาวขึ้นไปอีกครึ่งกิโลเมตรเลยทีเดียว

10. หุ่นคิวริออซิตี้ถ่ายเซลฟี่หน้าจุดลงจอดบนดาวอังคาร

ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของดาวอังคาร นี่เป็นชื่ออย่างเป็นทางการของคิวริออซิตี้ ซึ่งทำการสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคารมาตั้งแต่ปี 2012 ต้องขอบคุณคิวริออซิตี้ นักวิทยาศาสตร์จึงได้เรียนรู้ปริมาณของรังสีที่ผู้จะย่างเท้าไปสำรวจบนดาวอังคารต้องพบเจอ ซึ่งปริมาณนั้นสูงกว่าปริมาณของคนที่ทำงานในพื้นที่นิวเคลียร์จะได้รับถึง 300 เท่า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ระยะเวลาที่นานที่สุด ที่มนุษย์จะอยู่บนดาวเคราะห์สีแดงดวงนั้นได้ ไม่ควรเกินกว่า 500 วัน

9. ส่วนโป่งนูนใจกลางกาแล็กซี่ทางช้างเผือก

ใจกลางกาแล็กซี่ของเราอยู่ห่างจากเราไป 27,700 ปีแสง และเป็นส่วนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในทางช้างเผือก มันคือจุดที่ดาวฤกษ์ใหม่ ๆ ก่อตัวขึ้น ส่วนโป่งนูนนี้เป็นดาวฤกษ์เก่าที่มากระจุกรวมกันอย่างหนาแน่น เชื่อกันว่านี่คือใจกลางบ้านของเรา ซึ่งมีหลุมดำ 2 แห่ง โดยหนึ่งในนั้นใหญ่มหึมายิ่งกว่าดวงอาทิตย์ถึง 43 ล้านเท่า

8. ดาวอังคารที่อยู่ห่างจากโลก 80 ล้านกิโลเมตร

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2016 ดาวอังคารซึ่งอยู่ใกล้โลกในระยะทาง 80 ล้านกม. เป็นวัตถุขนาด 30×50 กม. ที่ทำให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล “จับภาพออกมาได้ดูดี” คุณจะเห็นเมฆเหนือขั้วดาวสีแดง ซึ่งก็คือปล่องแคสสินี ปล่อยฮอยเกนส์ และปล่องชิอาพาเรลลี่ แล้วนักวิทยาศาสตร์ก็คิดด้วยว่าครั้งหนึ่งปล่อยพวกนั้นเคยมีน้ำบรรจุไว้ และปล่องแคสสินีก็มีน้ำมากยิ่งกว่าทะเลสาบไบคาลเสียอีก

7. ภาพที่ละเอียดที่สุดของเนบิวลาปู

เนบิวลาปูเป็นหนึ่งในกลุ่มดาววัว ซึ่งความจริงแล้วเป็นเศษซากที่เหลือจากซูเปอร์โนวา ซึ่งนักดาราศาสตร์ชาวจีนได้เป็นพยานพบเห็นในปี 1054 ในนั้นมีดาวนิวตรอนเป็นศูนย์กลางของเนบิวลา ซึ่งก่อตัวขึ้นหลังการระเบิดครั้งนั้น เส้นผ่านศูนย์กลางของมันมีระยะ 20-30 กม. และมีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์เลยทีเดียว

6. การก่อตัวของดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างจากกลุ่มดาวหงส์ 4.5 ปีแสง

ดักแด้อวกาศนี้คือดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัว ซึ่งรวมเอาสสารที่เป็นแก๊สมาไว้รอบ ๆ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจเต็มร้อยนักว่า “ตัวอ่อน” ของจักรวาลนี้ จะรวบรวมมวลได้มากพอหรือไม่ เพราะรอบ ๆ แถวนั้นมีดาวฤกษ์ชนิดโอ ดาวพวกนี้ ซึ่งมีเพียง 65 ดวงในเขตจักรวาลที่มองเห็นได้ เป็นวัตถุที่สว่างและร้อนที่สุดในจักรวาล
ดาวฤกษ์แบบนี้อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ที่กำลังก่อตัว ซึ่งถ้าหากมันรวบรวมสสารได้ ก็จะสว่างและใหญ่ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ และรังสีที่ปล่อยออกมาก็จะทำลายกลุ่มเมฆดาวฤกษ์ได้เลย

5. ภาพแรกบนดวงจันทร์ที่ถ่ายโดย นีล อาร์มสตรอง

ในวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 1969 นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) นักบินอวกาศชาวอเมริกันถ่ายภาพก้าวแรกบนดวงจันทร์ และกล่าวคำพูดอันโด่งดังของเขาว่า “ก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” 15 นาทีหลังจากที่อาร์มสตรอง (Armstrong) เหยียบลงบนดวงจันทร์ บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) ไปรวมกับเขาด้วย นี่คือตอนที่ศักราชใหม่ของการสำรวจอวกาศเริ่มต้นขึ้น
ส่วนถุงสีขาวในภาพนั้นคือถุงขยะนะ

4. “จิ๊กซอว์” ของภาพสุดท้ายของดาวเสาร์ที่ได้จากยานแคสสินี

ในวันที่ 15 กันยายน ปี 2017 ยานสำรวจแคสสินีเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์ และยุติบทบาทในอีกหนึ่งเดือนก่อนจะครบรอบ 20 ปีของการทำงานของยาน ยานลำนี้ให้ข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับดาวเสาร์และดาวบริวารต่าง ๆ แก่นักวิทยาศาสตร์ และทิ้งภาพอันน่าทึ่งของดาวแก๊สยักษ์นี้ไว้ให้เรา

3. เนบิวลาผ้าคลุมไหล่

ราว 1,470 ปีแสงจากดาวของเรา มีเนบิวลาผ้าคลุมไหล่ ซึ่งเป็นเศษซากที่เหลืออยู่ของการระเบิดซูเปอร์โนวา แม้จะมีระยะทางกว้างมโหฬาร เนบิวลานี้ก็มีขนาดใหญ่มหึมา ซึ่งใหญ่กว่าขนาดของดวงจันทร์เต็มดวงถึง 5 เท่า ยิ่งกว่านั้น เพราะขนาดของเนบิวลานี้เอง นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งชื่อให้เนบิวลาแต่ละส่วนแตกต่างกันด้วย

2. เนบิวลาเฮลิกซ์

หนึ่งในวัตถุที่สวยงามและไม่ธรรมดาที่สุดในจักรวาลคือเนบิวลาเฮลิกซ์ หรืออย่างที่เรียกกันว่า “ดวงตาของพระเจ้า” ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 650 ปีแสง และเป็นหนึ่งในวัตถุที่อยู่ใกล้ที่สุดในจำนวนวัตถุชนิดนี้ เรื่องที่น่าสนใจก็คือเนบิวลานี้ปรากฏได้เพราะดาวฤกษ์ที่มีลักษณ์คล้ายกับดวงอาทิตย์ วงจรชีวิตของมันสิ้นสุดลง และกลายเป็นดาวแคระห์ขาว ซึ่งหมายความว่าอีก 6 พันล้านปีข้างหน้าจะมี “ดวงตาของพระเจ้า” อีกดวงหนึ่งมาอยู่แทนที่ดวงอาทิตย์

1. ภาพล่าสุดของดาวพฤหัส ในเดือนพฤษภาคม ปี 2018

ยานสำรวจอวกาศจูโนจับภาพอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของดาวพฤหัสได้ ภาพนี้ถ่ายจากมุมที่ไม่ธรรมดา ซึ่งเห็นจุดแดงใหญ่ที่เป็นพายุหมุนยักษ์ ที่ไม่เคยหยุดพัดบนซีกโลกเหนือของดาวพอดี นอกจากนี้คุณยังเห็นพายุลูกอื่น ๆ บนดาวด้วย แต่ทั้งหมดนั้นเล็กกว่าพายุที่มีชื่อเสียงโด่งดังลูกนั้นมาก คุณค่าของรูปนี้ตามความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ คือการที่ได้จับภาพสีสันตามธรรมชาติของดาว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการศึกษาดาวดวงนี้ต่อไป

โบนัส: ต่อให้มนุษย์ทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้มากองรวมกันในแกรนด์แคนยอน เราก็ยังแทบจะเติมพื้นที่ทั้งหมดให้เต็มไม่ได้เลย

ภาพไหนในบทความนี้ที่ทำให้คุณทึ่งที่สุด ? บอกเราในช่องคอมเมนต์ด้านล่างหน่อยนะ !

เครดิตภาพพรีวิว Vsauce / youtube
แชร์บทความนี้