21 สิ่งประดิษฐ์สะท้านโลกที่เราต้องขอบคุณนักประดิษฐ์หญิงพวกนี้
เมื่อเราคิดถึงการประดิษฐ์ที่สำคัญ ๆ และคนที่สร้างมันมา ชื่อแรก ๆ ที่เข้ามาในหัวของเราก็คงจะเป็นโทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) หรือสองพี่น้องตระกูลไรท์ (Wright Brothers) โดยที่เราอาจไม่ค่อยรู้จักนักประดิษฐ์ที่เป็นผู้หญิงกันมากนัก แต่นั่นไม่ได้หมายความพวกเธอเหล่านั้นจะมีความสำคัญน้อยกว่าแต่อย่างใด บางครั้งผู้หญิงมีความยากลำบากกว่าจะได้สิทธิบัตรแต่ละใบหรือแม้แต่การได้รับเครดิตในผลงานต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น มาร์กาเร็ต ไนท์ (Margaret Knight) ถูกขโมยความคิดและต้องไปต่อสู้กันถึงขั้นศาลเลยทีเดียวว่าเธอเป็นเจ้าของผลงานนั้น
ชีวิตสดใสอยากจะแชร์เรื่องราวของบรรดา 21 สตรีที่น่าทึ่งผู้ที่ประดิษฐ์สิ่งที่พวกเราทุกคนได้ใช้กันในชีวิตประจำวันขึ้นมา
1. การโชว์เบอร์ การรอสาย — ดร.เชอร์ลีย์ แอน แจ็กสัน
ดร.เชอร์ลีย์ แอน แจ็กสัน (Dr. Shirley Ann Jackson) คือนักฟิสิกส์ทฤษฎีและสตรีชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่ได้รับวุฒิปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที (MIT) โดยการวิจัยของเธอในช่วงยุคปี 70 นั้น เธอต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องการรอสายและการระบุเบอร์ที่โทรมา ซึ่งงานวิจัยที่เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของดร.เชอร์ลีย์ แอน แจ็กสันนั้น ยังได้ช่วยให้มีการประดิษฐ์สิ่งของอย่างเครื่องส่งแฟกซ์แบบพกพา สายไฟเบอร์ออปติก โซล่าร์เซลล์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
2. เครื่องล้างจาน — โจเซฟิน โคชเรน
โจเซฟิน โคชเรน (Josephine Cochrane) อยากให้มีอุปกรณ์ที่สามารถทำความสะอาดจานชามได้เร็วกว่าคนที่ทำงานให้เธอ โดยต้องมีแนวโน้มที่จะทำเครื่องถ้วยชามพวกนี้พังน้อยกว่าด้วย ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจที่จะออกแบบเครื่องที่ว่านี้ด้วยตัวเอง โจเซฟินได้นำเสนอสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมาในปี 1917 และเปิดโรงงานของเธอเอง
3. เส้นใยสังเคราะห์เคฟลาร์ — สเตฟานี คโวเล็ก
สเตฟานี คโวเล็ก (Stephanie Kwolek) คือนักเคมีที่ค้นพบวัสดุน้ำหนักเบาที่มีความแข็งแกร่งกว่าเหล็กกล้าถึง 5 เท่าเมื่อปี 1965 ซึ่งสิ่งประดิษฐ์นี้ได้ถูกนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์มากมาย ตั้งแต่เสื้อกันกระสุน เสื้อเกราะ ถุงมือที่ใช้ตามบ้าน และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังพบเส้นใยสังเคราะห์เคฟลาร์ (Kevlar) ในโทรศัพท์มือถือ เครื่องบิน และสะพานแขวนอีกด้วย
4. ยกทรงสมัยใหม่ — คาเรสส์ ครอสบี้ (ลูกสาวของแมรี่ เฟลพส์ จาคอบ)
ในปี 1910 เมื่อแมรี่ เฟลพส์ จาคอบ (Mary Phelps Jacob) อายุได้ 19 ปี ตอนนั้นเธอกำลังแต่งตัวเตรียมไปงานเต้นรำ ซึ่งเธอก็ทำตามปกติ นั่นคือสวมใส่คอร์เซ็ต แต่ครั้งนั้นชุดคอร์เซ็ตมันยื่นออกมาจากใต้ชุดราตรีของเธอ แมรี่ก็เลยขอให้สาวรับใช้นำผ้าเช็ดหน้า 2 ผืนและริบบิ้นมาให้ 1 เส้น ซึ่งในตอนนั้นเอง ตัวอย่างการออกแบบยกทรงครั้งแรกก็ถือกำเนิดขึ้นมา ซึ่งเธอได้รับสิทธิบัตรสำหรับสิ่งประดิษฐ์นี้ในปี 1914
5. เครื่องม้วนผม — ธีโอรา สตีเฟนส์
ธีโอรา สตีเฟนส์ (Theora Stephens) คือช่างทำผมชาวแอฟริกันอเมริกันที่ประดิษฐ์เครื่องรีดและม้วนผมที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดออกมาในปี 1980
6. ทางหนีไฟ — แอนนา คอนเนลลี่
เราแทบไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับชีวิตของแอนนา คอนเนลลี่ (Anna Connelly) เลย แต่เรารู้ว่าเธอเป็นผู้ประดิษฐ์สะพานหนีไฟซึ่งเป็นไอเดียตั้งต้นของการสร้างทางหนีไฟในสมัยใหม่นี้ โดยแอนนาได้รับสิทธิบัตรสำหรับการสร้างสรรค์นี้ในปี 1887 ซึ่งตอนนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของการเฝ้าระวังความปลอดภัยในเมืองใหญ่ ๆ ทั้งหลาย
7. ฮีตเตอร์ในรถ — มาร์กาเร็ต เอ วิลคอกซ์
มาร์กาเร็ต เอ วิลคอกซ์ (Margaret A. Wilcox) ประดิษฐ์ฮีตเตอร์ในรถขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 1893 โดยสิ่งประดิษฐ์ของเธอกลายเป็นสิ่งพื้นฐานของฮีตเตอร์ในรถในยุคสมัยใหม่ที่ช่วยให้ความอบอุ่นกับเราในหน้าหนาวได้
8. แพชูชีพ — มาเรีย บีสลีย์
มาเรีย บีสลีย์ (Maria Beasley) ได้ทำการออกแบบแพชูชีพแบบใหม่ที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิมขึ้นมาได้ โดยเธอได้รับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์นี้ในปี 1882 ซึ่งต่อมามาเรีย บีสลีย์ยังได้รับสิทธิบัตรจากเครื่องขึ้นรูปถังไม้ซึ่งนั่นทำให้เธอร่ำรวยอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
9. อัลกอริทึมคอมพิวเตอร์ — เอดา เลิฟเลซ
ลูกสาวของท่านลอร์ดไบรอน (Lord Byron) ที่มีชื่อว่าเอดา คิง-โนเอล (Ada King-Noel) คนนี้ เป็นนักคณิตศาสตร์ที่อัจฉริยะมาก โดยเคาน์เตส เลิฟเลซ (Countess Lovelace) และชาร์ลส์ แบบเบจ (Charles Babbage) ได้ทำงานร่วมกันในมหาวิทยาลัยลอนดอนเพื่อสร้างเครื่องวิเคราะห์ขึ้นมา โดยเธอได้พัฒนาวิธีโปรแกรมเครื่องที่ว่าโดยการใช้อัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เธอได้สร้าง “โปรแกรมคอมพิวเตอร์” ตัวแรกขึ้นมานั่นเอง
10. การส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สาย — เฮดี้ ลามาร์
เฮดี้ ลามาร์ (Hedy Lamarr) คือนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังและในขณะเดียวกันก็เป็นนักประดิษฐ์ด้วย โดยระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอและจอร์จ แอนธีล (George Antheil) ได้ประดิษฐ์ระบบนำทางวิทยุเพื่อป้องกันการยิงระเบิดตอร์ปิโดขึ้นมา แต่ด้วยความยากลำบากทางเทคนิคหลาย ๆ อย่าง สิ่งประดิษฐ์นี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้จนกระทั่งปี 1962 ระบบการส่งผ่านข้อมูลแบบไร้สายของเฮดี้ ลามาร์นั้นมีส่วนให้เกิดการพัฒนาสัญญาณ Wi-Fi และสัญญาณบลูทูธขึ้นมาได้ในภายหลัง
11. เครื่องทำความร้อนส่วนกลาง — อลิซ พาร์กเกอร์
อลิซ พาร์กเกอร์ (Alice Parker) คือนักประดิษฐ์ผู้ออกแบบระบบทำความร้อนส่วนกลางที่ใช้พลังงานจากแก๊สขึ้นในปี 1919 ถึงแม้ผลงานการออกแบบของเธอจะไม่เคยถูกสร้างขึ้นมาจริง ๆ แต่ไอเดียนี้ก็ถือว่าเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับระบบทำความร้อนส่วนกลางสมัยใหม่ได้เลย
12. สารเคลือบปกป้องเนื้อผ้าสก็อตช์การ์ด — แพทซี่ เชอร์แมน
แพทซี่ เชอร์แมน (Patsy Sherman) คือนักเคมีชาวอเมริกันและผู้ร่วมประดิษฐ์สารเคลือบปกป้องเนื้อผ้าสก็อตช์การ์ด (Scotchgard) โดยขณะที่เธอทำงานให้กับบริษัทสามเอ็ม (3M) เธอเผลอทำยางฟลูออโรพลาสติก (fluorochemical rubber) หกใส่รองเท้าของผู้ช่วย ซึ่งต่อมาพวกเขาก็ได้พบว่าคราบเปื้อนเหล่านั้นไม่ได้ทำให้รองเท้าเปลี่ยนสีเลยแม้แต่น้อย แถมยังช่วยป้องกันคราบน้ำ คราบน้ำมันและอื่น ๆ ไม่ให้ซึมผ่านได้อีก อุบัติเหตุในครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นของการประดิษฐ์สารเคลือบปกป้องเนื้อผ้าสก็อตช์การ์ดขึ้นมา
13. ที่ปัดน้ำฝน — แมรี่ แอนเดอร์สัน
เมื่อครั้งที่แมรี่ แอนเดอร์สัน (Mary Anderson) ได้ไปเยือนนิวยอร์กในปี 1903 เธอสังเกตเห็นว่าคนขับรถจะต้องเปิดหน้าต่างรถยนต์เพื่อคอยใช้มือตัวเองขจัดหิมะออกจากกระจกหน้ารถ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกมาก ๆ สำหรับคนขับและผู้โดยสาร แถมยังอันตรายอีกด้วย ดังนั้นแมรี่ แอนเดอร์สันจึงอยากหาวิธีแก้ปัญหา และในปี 1903 เธอก็ประดิษฐ์ที่ปัดน้ำฝนออกมา น่าเสียดายที่บริษัทรถยนต์ไม่ได้เชื่อถือในสิ่งประดิษฐ์ของแมรี่ในตอนนั้น ทำให้เธอไม่เคยได้กำไรจากเจ้าสิ่งนี้เลย
14. ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ — เกรซ ฮอปเปอร์
เกรซ ฮอปเปอร์ (Grace Hopper) คือนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกัน และยังเป็นพลเรือตรีประจำกองทัพเรือสหรัฐฯ อีกด้วย เธอได้ประดิษฐ์โปรแกรมประมวลคำสั่งที่จะแปลภาษาเขียนให้กลายเป็นรหัสคอมพิวเตอร์ได้ โดยเกรซ ฮอปเปอร์ได้เป็นผู้สร้างคำว่า “บั๊ก (bug)” กับ “การดีบั๊ก (debugging)” ขึ้นมาด้วย ในปี 1959 เธอได้เข้าร่วมการพัฒนาหนึ่งในภาษาโปรแกรมมิ่งแรก ๆ ในโลกสมัยใหม่ นั่นก็คือภาษาโคบอล (COBOL)
15. แบตเตอร์รี่ในสถานีอวกาศ — โอลก้า ดี กอนซาเลซ ซานาเบเรีย
โอลก้า ดี กอนซาเลซ ซานาเบเรีย (Olga .D Gonzalez-Sanabria) คือนักวิทยาศาสตร์ชาวปัวโตริโก้และยังเป็นนักประดิษฐ์อีกด้วย โดยในช่วงทศวรรษปี 80 เธอได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างแบตเตอรี่นิกเกิล-ไฮโดรเจนที่มีอายุการใช้งานที่ยืนนานขึ้นมา ซึ่งแบตเตอร์รี่เหล่านี้ช่วยให้พลังงานแก่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station)
16. ถุงกระดาษ — มาร์กาเร็ต ไนท์
ในปี 1867 มาร์กาเร็ต ไนท์ได้ทำงานอยู่ที่โรงงานถุงกระดาษที่เธอสังเกตเห็นว่าผู้หญิงที่ทำงานที่นี่จะต้องใช้มือคอยทากาวกระดาษติดกระดาษที่มีรูปทรงคล้ายซองจดหมายเพื่อให้ได้ถุงกระดาษที่มีก้นเรียบ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สะดวกเอาเสียเลยแถมยังกินเวลามาก ๆ มาร์กาเร็ต ไนท์จึงตัดสินใจที่จะออกแบบเครื่องจักรที่สามารถสร้างถุงกระดาษก้นเรียบออกมา เธอได้รับสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์นี้ในปี 1879
17. เกมเศรษฐี — เอลิซาเบธ แมคกี้
เอลิซาเบธ แมคกี้ (Elizabeth Magie) คือต้นแบบผู้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในบอร์ดเกมชื่อดังเกมนี้ เพราะเธอต้องการแสดงให้เห็นปัญหาของระบบทุนนิยมในขณะที่เล่นเกมนี้ไปด้วย โดยเกมต้นแบบมีชื่อว่าแลนด์ลอร์ดเกม (Landlord’s Game) และได้รับสิทธิบัตรในปี 1924 ซึ่งเกมเศรษฐี (Monopoly) ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้มีวางจำหน่ายในปี 1935 โดยพี่น้องตระกูลพาร์กเกอร์ (Parker Brothers) ที่ซื้อสิทธิบัตรมาจากเอลิซาเบธ แมคกี้
18. ผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้ง - มาเรียน โดโนแวน
ในปี 1946 มาเรียน โดโนแวน (Marion Donovan) ใช้ม่านในห้องอาบน้ำนำมาสร้างเป็นแผ่นคลุมผ้าอ้อมกันน้ำ โดยเธอได้รับสิทธิบัตรสำหรับสิ่งประดิษฐ์นี้ในปี 1949 และภายหลังก็ขายให้กับบริษัทเคโก้ (Keko Corporatio) ในราคา 37 ล้านบาท ($1 million)
19. น้ำยาลบคำผิด — เบ็ตต์ เนสมิธ เกรแฮม
เบ็ตต์ เนสมิธ เกรแฮม (Bette Nesmith Graham) มีอาชีพเป็นเลขา ซึ่งเธอมักจะใช้สีสีขาวเพื่อทากลบเวลาพิมพ์ผิดในเอกสารต่าง ๆ โดยเธอใช้เวลา 2 — 3 ปีในการหาสูตรที่สมบูรณ์แบบ และในปี 1958 เธอก็ได้รับสิทธิบัตรน้ำยาลบคำผิด (Liquid Paper) มาครอบครอง ต่อมาในปี 1979 เบ็ตต์ เนสมิธ เกรแฮมได้ขายสิ่งประดิษฐ์นี้ให้แก่บริษัทยิลเลตต์ (Gillette Corporation) ในราคา 1.7 พันล้านบาท ($47.5)
20. เลื่อยวงเดือน — ทาบิธา แบบบิตต์
ทาบิธา แบบบิตต์ (Tabitha Babbitt) เป็นช่างทอผ้าและเป็นคนแรกที่แนะนำให้ใช้เลื่อยวงเดือนแทนเลื่อยปกติที่เคยต้องใช้ผู้ชายถึง 2 คนในการใช้งาน ในปี 1813 เธอได้ออกแบบตัวทดลองและเชื่อมมันติดกับเครื่องปั่นด้าย
21. บ้านที่ให้ความอบอุ่นด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ — ดร. มาเรีย เทลเคส
ดร. มาเรีย เทลเคส (Dr. Maria Telkes) เป็นนักฟิสิกส์ที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ในปี 1947 เธอได้ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้ความอบอุ่นแก่บ้านโดเวอร์ (Dover House) ซึ่งเป็นการออกแบบร่วมกันกับสถาปนิก เอเลนอร์ เรย์มอนด์ (Eleanor Raymond) โดยบ้านโดเวอร์หลังนี้ฝ่าฟันมาได้ถึง 3 หนาวก่อนที่ระบบจะล้มเหลว
คุณเคยรู้มาก่อนไหมว่าสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้จริง ๆ แล้วคนประดิษฐ์เป็นผู้หญิง ? บอกหน่อยว่าคุณมีความคิดเห็นกับเรื่องราวเหล่านี้อย่างไรบ้าง !