ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาหารประกอบฉากในหนังที่มีแต่แฟนพันธุ์แท้เท่านั้นที่รู้

ในหนังยุค 60 เทรนด์ยอดนิยมสำหรับฉากที่มีอาหารกลางวันหรืออาหารเย็นบางประเภทคือการใช้พาสต้า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นสปาเก็ตตี้ เพราะว่ามันทำง่าย แถมเมื่อเวลาผ่านไปซักระยะหนึ่งมันก็ยังอยู่ในสภาพดีบนจาน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอาหารในหนังก็มีวิวัฒนาการเหมือนกับสิ่งอื่น ๆ เช่นกัน โดยมีการสร้างสรรค์ศาสตร์แห่งการทำอาหารทั้งหมดไว้ข้างใต้ที่นอกจากจะมีพ่อครัวแล้ว ยังรวมไปถึงช่างภาพเฉพาะทางกับนักออกแบบอาหารด้วย

ทางชีวิตสดใสกำลังจะบอกข้อเท็จจริงทั้ง 10 อย่างที่ไม่ค่อยมีคนรู้กันเกี่ยวกับจานอาหารที่เราเห็นมันปรากฏอยู่บนหน้าจอ

1. อาหารถูกเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติขั้นสูง

หน้าที่ของนักออกแบบอาหารของกองถ่ายหนังไม่ได้เป็นแค่การทำอาหารเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้อาหารดูสมจริงเมื่ออยู่ในกล้อง ตลอดจนอาหารนั้นก็ต้องกินได้จริงและสามารถทนต่อปัจจัยต่าง ๆ ในการถ่ายทำได้ (ระยะเวลา สภาพอากาศ อุณหภูมิ ฯลฯ) แน่นอนว่านอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้ว อาหารก็ต้องดูน่ากินเมื่อปรากฏอยู่ในกล้องอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้เองนักออกแบบอาหารจึงไม่เพียงแต่จำเป็นต้องฝึกอบรมด้านการทำอาหารให้ครอบคลุมเท่านั้น แต่ยังต้องมีความรู้ด้านโภชนาการและเทคนิคการทำอาหารที่ล้ำสมัยอีกด้วย เช่น ศาสตร์การทำอาหารโมเลกุล ซึ่งใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาตรวจสอบการปรับเปลี่ยนส่วนผสมในขั้นตอนการเตรียมอาหาร

2. อาหารแต่ละจานต้องมีการทำวิจัยล่วงหน้า

นักออกแบบอาหารควรได้รับการแจ้งล่วงหน้า ไม่ใช่เพียงแต่สิ่งที่พวกเขาจะต้องเตรียมเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อรูปลักษณ์หรือผลลัพธ์ของอาหาร ตัวอย่างเช่น หากหนังเรื่องนั้นมีฉากประวัติศาสตร์ หรือเป็นหนังแฟนตาซีหรือนิยายวิทยาศาสตร์ หรือหากเป็นฉากอาหารพื้นเมืองที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์โดยเฉพาะและมีวิธีการเตรียมหรือนำเสนออาหารนั้น ๆ ที่เฉพาะเจาะจง สิ่งเหล่านี้ล้วนจำเป็นต้องรับทราบไว้

มาร์ต้า คาร์เดนาส (Marta Cárdenas) นักออกแบบอาหารได้กล่าวว่า “ต่อหน้ากล้อง ทุกอย่างมีความหมายหมด รวมไปถึงอาหารด้วย” อีกทั้งยังกล่าวอีกว่า “เราต้องมีความคิดแบบผู้กำกับศิลป์ ต้องดูทั้งรูปภาพ ภาพถ่าย และนิตยสารทำอาหารเก่า ๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจ”

3. อาหารปริมาณมากถูกเตรียมไว้ให้พร้อม

เมื่อพูดถึงการถ่ายทำหนัง อาหารแต่ละอย่างจะต้องมีสำรองหลาย ๆ จาน เผื่อว่าต้องการใช้มันในหลายเทค โดยเชฟคริส โอลิเวอร์ (Chris Oliver) หนึ่งในนักออกแบบอาหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในวงการหนังและรายการโทรทัศน์ของอเมริกาได้กล่าวว่า “สำหรับฉากวันขอบคุณพระเจ้า ผมต้องใช้ไก่งวง 8 ถึง 24 ตัว เพราะทุกครั้งที่พวกเขาหั่นไก่ พวกเขาจำเป็นต้องใช้ไก่งวงตัวใหม่”

นอกจากนี้ยังมีฉากที่นักแสดงกินจริง ๆ อีกด้วย หากพวกเขากินแฮมเบอร์เกอร์ไปแล้วครึ่งชิ้น แต่ฉากนั้นต้องถ่าย
ซ้ำ ๆ พวกเขาก็ต้องเริ่มต้นใหม่ โดยใช้แฮมเบอร์เกอร์ชิ้นใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง อย่างการถ่ายทำหนังเรื่อง เชฟจ๋า (Chef) พวกเขาต้องทำแซนด์วิชสไตล์คิวบาประมาณ 800 ชิ้น ซึ่งจอน ฟาฟโร (Jon Favreau) ผู้กำกับได้กล่าวว่า “คุณต้องกินมันแล้วกินมันอีก จากนั้นคุณต้องกินมันอีกครั้งในทุก ๆ มุมและทุก ๆ ช็อต”

4. อาหารในหนังแตกต่างจากอาหารที่ใช้ถ่ายภาพ อาหารของจริงมักจะถูกทำขึ้นมาเพื่อใช้ในการถ่ายหนังอยู่เสมอ

การเตรียมอาหารสำหรับการถ่ายภาพนั้นแตกต่างจากสิ่งที่คุณจะทำในฉากหนังเป็นอย่างมาก ในการถ่ายภาพนั้น อาหารอาจกินไม่ได้และไม่มีใครสังเกตเห็น แต่ในหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ผู้กำกับอยากให้นักแสดงมีปฏิกิริยากับอาหารของพวกเขาจริง ๆ เพื่อสร้างฉากที่ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำให้การใช้อาหารปลอมจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ในเวลาเดียวกันนั้นเองความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อย่างเช่นเลนส์ความละเอียดสูง (HD) ของปลอมจะปรากฏเห็นชัดอยู่บนกล้อง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ผลิตหนังจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแสวงหาสิ่งที่เป็นของแท้แบบ 100% ทั้งหมดที่จะปรากฏบนกล้อง ซึ่งรวมไปถึงอาหารด้วย

5. อย่างไรก็ตามมีบางครั้งที่อาหารบางชนิดก็เป็นของปลอม

บางครั้งมีการใช้อุปกรณ์ประกอบฉากในตอนที่ไม่ได้ตั้งใจที่จะให้นักแสดงกินมัน และจุดประสงค์ก็เป็นเพียงการตกแต่งเท่านั้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการถ่ายทำฉากวันเกิดในหนังเรื่อง จดหมายจาก จอห์น เลนนอน (Danny Collins) ซึ่งได้เตรียมเค้กปลอมไว้เพราะไม่ได้จะกินในฉาก แต่ผู้กำกับก็เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย

“เราต้องตัดเค้กที่ทำจากโฟมด้วยเลื่อย เพราะไม่มีมีดเล่มไหนของฉันที่สามารถตัดมันได้เลย และจากนั้นเราก็วางชั้นเค้กของจริงเอาไว้ข้างบนเพื่อให้มันดูเหมือนของจริง สุดท้ายเราก็ต้องส่งคนให้รีบไปที่ตลาดหลายแห่ง เพื่อเอาเค้กชั้นสีขาวมาทำให้ดูเหมือนกับคนข้างหลังกำลังกินเค้กอยู่จริง ๆ” กล่าวโดยเมลิสซ่า แมคซอร์ลีย์ (Melissa McSorley) นักออกแบบอาหาร

6. อาหารบางจานไม่ได้ถูกเลือกเอาไปเข้าฉาก แต่ก็มักจะมีคนที่กินอาหารเหล่านั้นอยู่เสมอ

ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเท่าใดนักที่จะมีอาหารเหลือ เพราะนักแสดงมักจะต้องทานอาหารในฉากของพวกเขาและทีมงานกองถ่ายหนังก็มีหน้าที่จัดการกับอาหารที่เหลือให้เรียบร้อย แต่อาหารอะไรก็ตามที่ไม่ได้ถูกแตะเลยในฉากและยังอยู่ในสภาพดี ก็สามารถนำมันไปแช่เย็นและเก็บไว้ใช้ในโปรเจกต์อื่น บริจาคเพื่อการกุศล หรือนำมาทำเป็นอาหารเมนูอื่น ๆ แยม หรือซอสได้

7. ต้องคำนึงถึงสุขภาพของนักแสดงด้วย

อาหารหลายชนิดใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ในกองถ่าย และไม่เพียงแต่ต้องดูน่ากินในฉากแล้วฉากเล่าเท่านั้น แต่มันยังต้องอยู่ในสภาพดีอีกด้วย บางครั้งอาหารจะถูกแทนที่ด้วยของสด และบางครั้งจะมีการสร้างอาหารทางเลือกอื่นที่มีอายุการเก็บรักษาที่นานขึ้น อีกทั้งปลาและอาหารทะเลก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่เน่าเสียได้ง่ายและมีความเป็นพิษสูง

สำหรับกรณีเหล่านี้นักออกแบบอาหารต้องมองหาทางเลือกอื่นที่นอกจากจะมีความคล้ายคลึงทางสายตาแล้ว ยังต้องดีต่อสุขภาพอีกด้วย โดยเมลิสซ่า แมคซอร์ลีย์ (Melissa McSorley) นักออกแบบอาหารได้กล่าวว่า “ฉันต้องทำหอยนางรมปลอมมาเยอะมาก โดยทำมันมาจากคัสตาร์ดกับครีมขนมอบที่ฉันลงสี จากนั้นก็ปั้นมันขึ้นมาด้วยแปรงกับลม ซึ่งพวกมันเลื่อนออกมาจากเปลือกหอยนางรมได้อย่างสมบูรณ์แบบเลยล่ะ”

8. มีการคิดค้นและเตรียมอาหารชนิดใหม่ ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ามันจะยังไม่มีอยู่จริงก็ตาม

การเตรียมงานเลี้ยงในปี 3000 บนดาวเคราะห์นอกทางช้างเผือกนั้นต้องใช้การค้นคว้าวิจัยและความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก หากมีพืชผักต่าง ๆ ก็อาจจะดูแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งนักออกแบบอาหารต้องใช้จินตนาการทั้งหมดเพื่อสร้างอาหารที่ไม่มีอยู่จริง ซ้ำยังต้องทำให้ผู้ชมเชื่อ โดยพวกเขาไม่เพียงแต่ดูแลรูปลักษณ์ของอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรสชาติ เนื้อสัมผัส และการนำเสนออีกด้วย

เจนิส พูน (Janice Poon) หนึ่งในนักออกแบบอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในรายการโทรทัศน์ของอเมริกาได้กล่าวว่า “มือ (ของนักแสดง) อาจจะสวมอยู่ในถุงมือที่ไม่ใช่ยาง แต่เป็นซิลิโคนหรือลาเท็กซ์ที่ขึ้นรูปไว้ เพื่อทำให้ดูไม่เหมือนกับมือคน ดังนั้นคุณต้องระมัดระวังในสิ่งที่คุณเสิร์ฟให้พวกเขากิน เพราะพวกเขาไม่สามารถใช้มือได้จริง ๆ พวกเขานั้นใส่ถุงมือกินอาหาร”

9. นักออกแบบอาหารใช้อุปกรณ์ที่หลากหลาย

หากคุณอยากรู้ว่านักออกแบบอาหารต้องสามารถทำงานอะไรเป็นบ้าง ให้นึกถึงภาชนะทั้งหมดที่คุณมีอยู่ในครัวแล้วคูณด้วย 10 รวมทั้งคลังเครื่องมือเฉพาะสำหรับงานประเภทต่าง ๆ เช่น แหนบ แปรง เข็มฉีดยา เครื่องพ่นสารเคมี หัวพ่นไฟหรือสเปรย์ทำให้เยือกแข็ง เป็นต้น

บ่อยครั้งที่สถานที่ถ่ายทำอยู่ห่างไกลหรือเป็นสถานที่ที่ไม่มีห้องครัว ดังนั้นนักออกแบบอาหารของกองถ่ายหนังจึงมีห้องครัวแบบเคลื่อนที่ได้ ซึ่งเป็นกองคาราวานที่ทันสมัยและซับซ้อน พร้อมทั้งมีทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเตรียมอาหารไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

10. อาหารในบทต้องปรับให้เข้ากับการกินอาหารของนักแสดงแต่ละคน

ก่อนเริ่มการถ่ายทำ ทีมงานในครัวต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารของนักแสดงแต่ละคนก่อน เพราะนักแสดงอาจแพ้อาหารหรืออาจต้องทานอาหารที่จำเป็นสำหรับบทนี้แบบชั่วคราว ซึ่งแน่นอนว่าอาหารเฉพาะประเภทเนื่องจากการเลือกส่วนบุคคลก็เป็นสิ่งหนึ่งของวงการฮอลลีวูดเช่นกัน เชฟคริส โอลิเวอร์ (Chris Oliver) จำได้ว่ามีอยู่ฉากนึง นักแสดงที่เป็นมังสวิรัติต้องกินไข่ดาว และเนื่องจากเขาเป็นมังสวิรัติ เขาจึงไม่เต็มใจที่จะทำแบบนั้น

ทีมงานในครัวต้องทำไข่ดาวที่ดูเหมือนกับไข่ธรรมดา แต่ก็เหมาะกับคนที่กินมังสวิรัติ “คุณทำไข่มังสวิรัติได้ยังไงน่ะเหรอ ? ถ้าผมบอกคุณว่า...ศาสตร์การทำอาหารโมเลกุล ผมก็ไม่รู้จะอธิบายให้คุณฟังได้ยังไง แต่ผมทำได้ มันคือมะม่วงกับเต้าหู้ ถ้าคุณดูฉากนั้น คุณจะแยกไม่ออกเลยล่ะ”

อาหารจานโปรดของคุณคืออะไร ? และคุณเคยเห็นมันในหนังบ้างมั้ย ?

ทางชีวิตสดใสมีพอดแคสต์เป็นของตัวเองแล้วนะ มาพกบทความดี ๆ ติดตัวไปกับคุณ พร้อมทั้งฟังเรื่องราวใหม่ ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลากันได้เลย

เครดิตภาพพรีวิว Eat Pray Love / Columbia Pictures and co-producers
แชร์บทความนี้