ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

11 ช่วงเวลาที่เครื่องแต่งกายมีความสำคัญพอ ๆ กับนักแสดงในภาพยนตร์

ตามหลักแล้ว รางวัลออสการ์สำหรับการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ดีที่สุดมักตกไปเป็นของศิลปินที่สามารถรังสรรค์เครื่องแต่งกายขึ้นมาใหม่ได้อย่างถูกต้องตามช่วงเวลาประวัติศาสตร์ แต่ก็มีทีมสร้างหนังเพียงแค่ทีมเดียวเท่านั้นที่คว้ารับรางวัลไป ในขณะที่อีก 5 ทีมถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ทุกคนต่างรู้จักหนังที่ได้รับรางวัลออสการ์ แต่ทว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะจดจำหนังที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามหนังเหล่านี้ก็คุ้มค่าที่จะใช้เวลานั่งชมในยามค่ำคืน เพราะว่าเครื่องแต่งกายในหนังเหล่านี้ไม่เพียงแต่น่าดูเท่านั้น แต่พวกมันยังได้ซ่อนความหมายลับ ๆ ไว้อีกด้วย

11. ไบรท์ สตาร์, ปี 2009

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย - เจเน็ต แพตเตอร์สัน (Janet Patterson)

นักออกแบบให้ความสนใจกับเครื่องแต่งกายของแฟนนี่ บรอว์น (Fanny Brawne) ตัวละครหลักของหนังเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยแพตเตอร์สันไม่เพียงแต่พยายามแสดงบุคลิกของตัวละครผ่านเสื้อผ้าของเธอเท่านั้น แต่ยังได้แสดงอารมณ์และความรู้สึกของเธอลงไปด้วย

ตัวอย่างเช่น ในฉากที่แฟนนี่ (Fanny) กับจอห์น (John) คนรักของเธอเปียกฝน เด็กสาวได้สวมชุดกระโปรงสีชมพู ซึ่งผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายได้มองหาผ้าที่ใช่สำหรับทำชุดนี้เป็นเวลานาน เนื่องจากเธออยากหาผ้าที่ดูแย่เมื่อโดนน้ำ ซึ่งมันจะช่วยสร้างเอฟเฟกต์อันน่าทึ่งเพิ่มขึ้นมา เพราะฉากนั้นเกี่ยวกับการทรยศ ดังนั้นชุดที่สดใสและสวยงามของแฟนนี่จึงกลายเป็นผ้าเปียก ๆ แสนขี้เหร่กลางสายฝน

10. ประกาศก้องจอมราชา, ปี 2010

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย - เจนนี่ บีแวน (Jenny Beavan)

หนังเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว ดังนั้นนักแสดงส่วนใหญ่จึงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแนววินเทจจากยุคสมัยนั้น เครื่องแต่งกายเก่า ๆ ถูกเช่าและนำมาซ่อมแซม เพราะส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก

บีแวนได้เปิดเผยว่าพวกเขาพยายามใช้เสื้อผ้าแนววินเทจแบบดั้งเดิมให้มากที่สุด เพราะพวกเขาต้องการให้นักแสดงรู้สึกสบายตัวเมื่อใส่ชุดพวกนี้ ดังนั้นแล้วผู้ชมจะมองว่าพวกเขาคือคนในยุคนั้นจริง ๆ และหนังทั้งเรื่องก็ดูเหมือนกับว่าไม่ได้จัดฉากจนมากเกินไป แต่นักแสดงบางคนรู้สึกอึดอัดกับชุดพวกนี้ อีกทั้งพวกเขายังรู้สึกเหมือนกำลังสวมเครื่องแต่งกายอยู่ เป็นผลให้การแสดงของพวกเขาดูไม่เป็นธรรมชาติ ดังนั้นนักออกแบบเครื่องแต่งกายจึงต้องปรับหรือทำชุดขึ้นใหม่ให้กับพวกเขา (แทนที่จะใช้เสื้อผ้าวินเทจ) ตัวอย่างเช่น ตัวละครของเฮเลน่า บอนแฮม คาร์เตอร์ (Helena Bonham Carter) ชอบใส่ชุดที่มีสีสันในชีวิตจริง แต่นักแสดงสาวรู้สึกอึดอัดเมื่อใส่ชุดพวกนี้ ดังนั้นนักออกแบบเครื่องแต่งกายจึงเลือกสีที่ดูผ่อนคลายกว่าให้กับชุดของเธอ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่าเธอแสดงเป็นตัวละครนั้นได้อย่างสมจริง

9. เจน แอร์ หัวใจรัก นิรันดร, ปี 2011

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย - ไมเคิล โอคอนเนอร์ (Michael O’Connor)

สไตล์ของตัวละครหลักดูเรียบง่ายและไม่หวือหวา ซึ่งแตกต่างจากบรรดาเครื่องแต่งกายที่โอคอนเนอร์มักทำขึ้นโดยสิ้นเชิงอย่างในหนังเรื่อง เดอะ ดัชเชส พิศวาส อำนาจ ความรัก (The Duchess) แต่นักออกแบบได้ตัดสินใจว่าชุดของตัวละครเจน (Jane) ควรสะท้อนถึงแก่นแท้ภายในของเธอ ซึ่งไม่อาจเผยได้ด้วยชุดที่ตกแต่งประดับประดาและอัดแน่น แต่เป็นเครื่องแต่งกายในอดีตแบบไร้อารมณ์ความรู้สึก

ตัวละครของดาราสาวมีอา วาซิโควสก้า (Mia Wasikowska) ถึงขั้นมีชุดชั้นในแบบพิเศษ (เป็นถุงน่องกับคอร์เซ็ต) ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับเธอ แล้วนี่คือสิ่งสำคัญสำหรับผู้กำกับเป็นอย่างมาก เพราะเขาอยากโชว์ตัวละครเจนในแบบที่ไม่สวมชุด แต่หากเธอไม่ได้สวมชุดชั้นในแบบที่คนเคยใส่กันในช่วงยุคนั้น ก็จะทำลายความน่าประทับใจของหนังไป

8. เล มิเซราบล์, ปี 2012

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย - ปาโก้ เดลกาโด้ (Paco Delgado)

ปฏิกิริยาแรกของปาโก้ เดลกาโด้ในตอนที่ถูกขอให้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับหนังเรื่องนี้ก็คือ “โอ้พระเจ้า งานนี้มันใหญ่มากเลยล่ะ !” แล้วเขาก็ไม่ได้พูดเกินจริงแม้แต่นิดเดียว เพราะนักออกแบบต้องทำเครื่องแต่งกายขึ้นใหม่ทั้งหมดให้กับตัวละครแทบทุกตัวในละครเพลงเรื่องนี้ นอกจากนี้ทีมงานที่มีอยู่ 50 คนยังต้องใส่ใจรายละเอียดทางประวัติศาสตร์อีกด้วย เพราะหนังเรื่องนี้ครอบคลุมระยะเวลาค่อนข้างนาน คือตั้งแต่ปี 1815 ไปจนถึงปี 1848 อีกทั้งเครื่องแต่งกายของตัวละครก็ต้องแตกต่างกันออกไปในฉากต่าง ๆ อย่างมีสไตล์

เนื่องจากประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นมีความดำมืดมาก ๆ ดังนั้นความปรารถนาแรกของเดลกาโด้คือการให้ตัวละครทุกตัวอยู่ในชุดสีดำ แต่ทว่าผู้กำกับต้องการสีสันบนหน้าจอ ดังนั้นนักออกแบบจึงเลือกโทนสีสว่างที่มีองค์ประกอบสีน้ำเงินอิ่มตัว

7. พิศวาสลับกวีก้องโลก, ปี 2013

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย - ไมเคิล โอคอนเนอร์ (Michael O’Connor)

นักออกแบบได้ศึกษาแฟชั่นในยุคนั้นอย่างละเอียด (กลางศตวรรษที่ 19) โดยใช้เหล่าภาพวาดที่สร้างขึ้นในสมัยนั้นกับภาพถ่าย ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ก็คือตัวละครไม่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายในฉากต่าง ๆ แต่พวกเขาเพียงแค่เพิ่มรายละเอียดใหม่ ๆ ให้กับรูปลักษณ์ โดยสิ่งนี้ถูกทำเพื่อให้ตรงกับประวัติศาสตร์ เพราะในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ผู้คนไม่สามารถมีชุดกระโปรงและชุดสูทได้หลายร้อยชุด ดังนั้นแล้วทุกครั้งที่พวกเขาไปรวมตัวกันในที่สาธารณะ พวกเขาจะเพิ่มรายละเอียดหรือเครื่องประดับใหม่ให้กับชุดเก่า ๆ ของตัวเอง เพื่อให้พวกมันดูใหม่

6. วาดฝันให้ก้องโลก, ปี 2014

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย - แจ็กเกอลีน เดอร์แรน (Jacqueline Durran)

หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่นักออกแบบจำเป็นต้องคำนึงถึงในตอนที่ทำเครื่องแต่งกาย โดยมีการจ้างนักวิจัยให้รวบรวมรายละเอียดทางประวัติศาสตร์เล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ก่อนที่นักออกแบบเครื่องแต่งกายจะเริ่มทำงาน

ตัวละครฮันน่า แดนบี้ (Hanna Danby) คนรับใช้ที่ไม่เคยออกจากบ้านของตัวละครหลักไปไหนและอยู่รับใช้อย่างเกียจคร้านสมควรที่จะให้ความสนใจเป็นพิเศษ อีกทั้งผู้หญิงคนนี้ยังดูแย่และหยาบคายเมื่อเทียบกับคนรักของเทิร์นเนอร์ (Turner)

เดอร์แรนได้ครุ่นคิดเรื่องนี้และตัดสินใจว่าในชีวิตจริงผู้หญิงคนนี้ควรจะมีชุดกระโปรงชุดเดียวและใส่มันไปจนหมดสภาพ ดังนั้นแล้วเธอจึงตัดสินใจทำเครื่องแต่งกายให้ฮันน่า 2 ชุด โดยชุดแรกควรจะดูใหม่และอีกชุดอยู่ในสภาพที่แย่มาก ๆ ซึ่งรายละเอียดนี้ได้โชว์ให้เราเห็นว่าตัวละครได้รับความทุกข์ทรมานแค่ไหนในความสัมพันธ์ของเธอกับตัวละครหลัก

5. รักเธอสุดหัวใจ, ปี 2015

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย — แซนดี้ พาวเวลล์ (Sandy Powell)

เนื้อเรื่องของหนังเกิดขึ้นอยู่รอบตัวแครอล (Carol) ซึ่งเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ดังนั้นเพื่อแยกเธอออกจากผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่เหลือในเรื่อง นักออกแบบจึงใช้กลอุบายที่น่าสนใจ คือเครื่องแต่งกายของตัวละครได้ซ่อนรายละเอียดความเป็นผู้ชายไว้เยอะมาก แล้วด้วยเหตุนี้เอง ผู้ชมจึงมองว่าแครอลคือผู้หญิงที่พึ่งพาตนเอง ซึ่งสามารถยืนหยัดเพื่อตัวเธอเองได้

ตัวละครนี้มีลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือเธอทาเล็บเฉพาะเฉดสีแดงเท่านั้นและเล็บของเธอก็ดูไร้ที่ติเสมอ ในขณะที่มือของตัวละครหลักคนที่สองในเรื่องไม่ได้ดูทันสมัยซักนิด แถมยังไม่น่าเป็นไปได้ที่เธอจะเคยทาเล็บ

ในหนังจะเห็นว่าผู้กำกับดึงความสนใจของผู้ชมไปที่ข้อมือสองสามครั้ง เพื่อทำให้ผู้ชมเข้าใจว่ามือของแครอลไม่รู้จักว่างานจริง ๆ คืออะไร เพราะเป็นมือที่ไม่เคยล้างห้องน้ำ ทำความสะอาดพื้น หรือซักผ้า ซึ่งตรงกันข้ามกับเพื่อนของเธอที่ไม่เกี่ยงงาน

4. ฟลอเรนซ์ ฟอสเตอร์ เจนกินส์, ปี 2016

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย — คอนโซลาต้า บอยล์ (Consolata Boyle)

ในการสร้างบรรยากาศเมืองนิวยอร์กในต้นศตวรรษที่ 20 ที่นักร้องโอเปร่าชื่อดังอย่างฟลอเรนซ์ ฟอสเตอร์ เจนกินส์ (Florence Foster Jenkins) อาศัยอยู่ในยุคนั้น นักออกแบบเครื่องแต่งกายต้องทำงานหนัก เพราะนอกเหนือจากการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์แล้ว ทีมงานยังได้ตรวจสอบและวิเคราะห์รูปภาพของเจนกินส์ด้วยตัวเองอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพถ่ายเครื่องแต่งกายบนเวทีของเธอ อย่างไรก็ตามชุดที่เธอสวมใส่ในชีวิตประจำวันกับบนเวทีไม่ได้แตกต่างกันมากนัก อีกทั้งนักร้องสาวมีชื่อเสียงในเรื่องความหลงใหลในผ้ากับสไตล์ที่แปลกใหม่

เครื่องแต่งกายทุกชุดในหนังเรื่องนี้ถูกนักออกแบบทำขึ้นใหม่ทั้งหมด

3. ราชินีและคนสนิท, ปี 2017

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย — คอนโซลาต้า บอยล์ (Consolata Boyle)

ปัญหาหลักของนักออกแบบคือการรักษาความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ แต่แล้วพระราชินีตัวจริงได้สวมแต่เสื้อผ้าสีดำเข้มเพราะอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ให้กับสามีของเธอที่เสียชีวิตไป แล้วก็ไม่มีใครอยากเสียสละตัดความจริงออกไป เพื่อให้ได้มาซึ่งสีสันของชุด ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาอย่างสง่างามก็คือบอยล์ได้เก็บเสื้อผ้าสีเข้มเอาไว้ แต่เพิ่มองค์ประกอบพื้นผิวของผ้านับไม่ถ้วนที่ทำให้ชุดที่ดำสุด ๆ ดูเกือบจะเป็นชุดออกงานรื่นเริงได้

เพื่อช่วยให้ผู้ชมเข้าใจว่าความสัมพันธ์ที่แสนโรแมนติกระหว่างตัวละครพัฒนาขึ้นอย่างไร นักออกแบบได้ปรับเปลี่ยนชุดของพระราชินีให้ดูใกล้เคียงกับตอนจบของหนังมากขึ้น ในตอนต้นของหนัง เธอเลือกชุดสีเข้ม แต่ในตอนท้าย ๆ เธอก็เริ่มสวมชุดสีขาวและสีอ่อนอื่น ๆ ซึ่งนับว่าน่าสนใจที่สีขาวคือสีประจำชาติที่จะสวมใส่เมื่อสิ้นสุดการไว้ทุกข์

2. อีเสน่ห์ร้าย, ปี 2018

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย - แซนดี้ พาวเวลล์ (Sandy Powell)

เครื่องแต่งกายทุกชุดที่คุณเห็นในหนังเรื่องนี้ถูกทำขึ้นใหม่ทั้งหมดภายใน 6 สัปดาห์ แล้วเนื่องจากงบประมาณที่ต่ำ นักออกแบบจึงใช้ผ้าสีดำกับสีขาวราคาถูก ส่วนเครื่องประดับที่ปรากฏบนหน้าจอก็ไม่ได้เสียเงินมากมาย เพราะบางชิ้นถูกทำขึ้นด้วยมือของนักออกแบบ และส่วนที่เหลือก็ทำจากไข่มุกเทียม

ผ้าบางผืนถูกซื้อมาจากร้านขายของมือสอง อย่างเช่นชุดคนรับใช้ในครัวที่คุณเห็นในภาพด้านบนก็ทำมาจากกางเกงยีนส์เก่า ๆ ที่ทีมงานได้ซื้อมาจากร้านขายของมือสอง

หนังเรื่องนี้ไม่ได้อวดอ้างว่าถูกต้องตามประวัติศาสตร์

1. กาลครั้งหนึ่งใน...ฮอลลีวู้ด, ปี 2019

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย - อาเรียนน์ ฟิลลิปส์ (Arianne Phillips)

นักออกแบบได้ออกแบบเสื้อผ้าแบบพิเศษให้กับตัวละครหลักแต่ละตัว โดยพวกมันทำหน้าที่เป็นเครื่องรางนำโชคที่ไม่เพียงแต่ทำให้ตัวละครดูมีสไตล์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยเปิดเผยโลกภายในของตัวละครอีกด้วย

เหรียญนี้ถูกทำขึ้นสำหรับตัวละครริก ดัลตัน (Rick Dalton) มีดอกกุหลาบทิวดอร์อยู่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านเป็นตัวอักษร R สลักอยู่ นอกจากนี้ตัวละครของลีโอนาร์โด้ ดิคาปริโอ (Leonardo DiCaprio) ยังสวมเข็มขัดที่มีหัวเข็มขัดเป็นตัวอักษรเดียวกัน ซึ่งฟิลลิปส์ (Phillips) ได้กล่าวว่าผู้ชายที่สวมเสื้อผ้าที่มีอักษรย่อนั้นเป็นคนหยิ่งและขี้อวด แล้วตัวละครริคก็เป็นแบบนั้น

ตัวละครคลิฟ บัต (Cliff Butt) มีหัวเข็มขัดที่น่าสังเกต เพราะเขามีโลโก้ของสมาคมสตั๊นท์แมน (Stuntmen’s Association) อีกทั้งตัวละครของแบรด พิตต์ (Brad Pitt) ยังสวมเสื้อฮาวายที่เป็นหนึ่งในเสื้ออันโด่งดังที่สุดที่ทำขึ้นโดยทารันติโน่ (Tarantino)

คุณใส่ใจกับเสื้อผ้าของตัวละครในตอนที่คุณดูหนังบ้างหรือเปล่า ? แล้วชุดของพวกเขาได้เปิดเผยอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวพวกเขาบ้างมั้ย ?

เครดิตภาพพรีวิว Jane Eyre / BBC Films
ชีวิตสดใส/ภาพยนตร์/11 ช่วงเวลาที่เครื่องแต่งกายมีความสำคัญพอ ๆ กับนักแสดงในภาพยนตร์
แชร์บทความนี้