ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

12 เรื่องราวซ้ำซากในหนังรักโรแมนติกที่ดูมีสาระเกินกว่าที่เราจะใส่ใจยอมรับ

หนังรักโรแมนติกสร้างขึ้นจากกฎเกณฑ์และสูตรสำเร็จตายตัวที่ผู้ชมต่างรู้กันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนซี้ที่ตกหลุมรักกัน หรือคนธรรมดา ๆ ที่สามารถพิชิตใจคนดังได้ ด้วยเหตุนี้เองเราจึงหยุดใช้ความคิดกับเนื้อเรื่องที่จำเจไป แถมยังคิดอีกว่าสถานการณ์เหล่านี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง แต่ทว่าก็มีสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้และข้อคิดอันชาญฉลาดอยู่ในหนังรักเบาสมองที่หวานเลี่ยนเหล่านั้น

พวกเราที่ชีวิตสดใสพยายามที่จะดูเรื่องราวซ้ำซากของหนังรักโรแมนติก และทำความเข้าใจว่าสถานการณ์และการกระทำที่แสดงให้เราเห็นนั้น จะสามารถนำไปใช้กับชีวิตจริงได้หรือเปล่า

1. ไปต่างเมืองหรือต่างประเทศหลังจากที่เลิกกัน

คนเขียนบทมักส่งตัวละครที่อกหักให้เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อพวกเขาไปถึงสถานที่ใหม่ พวกเขาก็จะพบเพื่อนใหม่ ๆ และพบกับความรักของพวกเขาในทันที

แต่ปรากฎว่าการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมหลังจากการเลิกรากันหรือจากเหตุการณ์ที่ช้ำใจอื่น ๆ นับว่าเป็นความคิดที่ดีจริง ๆ เพราะนักจิตวิทยาและงานวิจัยมีข้อพิสูจน์ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน คือมันทำให้เราลืมกิจวัตรประจำวันระหว่างที่พักผ่อนและการพบปะผู้คนใหม่ ๆ ก็ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: ทัซคานี่...อาบรักแดนสวรรค์ (Under the Tuscan Sun, 2003), เดอะ ฮอลิเดย์ เซอร์ไพรส์รักวันพักร้อน (The Holiday, 2006), อิ่ม มนต์ รัก (Eat Pray Love, 2010)

2. นางเอกเขียนเรื่องความสัมพันธ์ของเธอลงในไดอารี่หรือในคอลัมน์หนังสือพิมพ์

นักเขียนกับนักข่าวมักโผล่เป็นตัวละครหลักในหนัง เพราะอาชีพของพวกเขาสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตส่วนตัวของพวกเขาได้ และพวกเขาก็เขียนบทความเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตัวเอง

การใส่อารมณ์ลงบนกระดาษนั้นมีประโยชน์ แม้กระทั่งกับคนที่ทำงานในแวดวงที่ต่างออกไป เพราะการมีไดอารี่ส่วนตัวจะช่วยให้คุณได้ระบายความกลัวและความกังวล เรียนรู้ที่จะแยกแยะความคิดแง่ลบ และติดตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของคุณ

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: บริดเจต โจนส์ ไดอารี่ บันทึกรักพลิกล็อค (Bridget Jones’s Diary, 2001), แผนรักฉบับซิ่ง ชิ่งให้ได้ใน 10 วัน (How to Lose a Guy in 10 Days, 2003), กระซิบรักไว้บนฟากฟ้า (Sleepless in Seattle, 1993)

3. การเปลี่ยนสไตล์ได้เปลี่ยนชีวิต

เราต่างได้เห็นการตีความเรื่องราวของซินเดอเรลล่า (Cinderella) ในรูปแบบต่าง ๆ ในหนัง โดยเรื่องราวของการเปลี่ยนเสื้อผ้าและทรงผมที่ดูต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง แล้วได้เปลี่ยนชีวิตพระเอกหรือนางเอกนั้น อาจเป็นเรื่องที่ดูน่าเบื่อสำหรับบางคน แต่ก็มีความฉลาดอยู่ในเรื่องนี้เช่นกัน

งานวิจัยยืนยันว่าเสื้อผ้าเปลี่ยนคนได้จริง ๆ โดยได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลองประเมินความเป็นมืออาชีพของคนแปลกหน้าโดยดูจากภาพถ่าย ซึ่งผลปรากฏว่าคนที่แต่งตัวดูดีกว่าได้คะแนนสูงกว่า

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: สาวเอ๋อ สุดหัวใจ (She’s All That, 1999), พยัคฆ์สาวนางงามยุกยิก (Miss Congeniality, 2000), ขอเวอร์ให้สะเด็ด (Clueless, 1995)

4. พาไปเดทในสถานที่ลับสุดโปรด

ทัศนคติที่ดีในหนังมักจะเติบโตเป็นความรักหลังจากที่ตัวละครตัวหนึ่งได้แบ่งปันความฝันของเขาหรือเธอ หรือไม่ก็พาเขาหรือเธอไปยังสถานที่ลับของพวกเขา สิ่งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะเมื่อเราเปิดใจและบอกความสนใจของเรา อีกฝ่ายก็จะเริ่มรู้จักเราดีขึ้น

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: นครดารา (La La Land, 2016), เอ่ยชื่อคือคำรัก (Call Me by Your Name, 2017), รักเธอหมดใจ ขีดไว้ให้โลกจารึก (The Notebook, 2004)

5. ตกหลุมรักเมื่อเจอกันอีกครั้ง

บางครั้งมันก็ยากที่จะเชื่อว่าคนที่พระเอกหรือนางเอกไม่ใส่ใจในตอนแรก จะกลายมาเป็นคนรักกันในตอนจบ แนวคิดเรื่องรักแรกพบอาจฟังดูดีก็จริง แต่ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับว่าสาสน์จากหนังเหล่านี้เป็นการประเมินความเป็นจริงที่ค่อนข้างดี คือเราควรทำความรู้จักกับคน ๆ หนึ่งให้ดีก่อนที่จะปฏิเสธที่จะสื่อสารกับพวกเขา

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: มิสซี่ สาวในฝัน (ร้าย) (The Wrong Missy, 2020), สาวกลัวฝน อลวนทุกวิวาห์ (Runaway Bride, 1999), เชื่อมใจรักทางอินเตอร์เน็ท (You’ve Got Mail, 1998)

6. ตัวเอกของเรื่องปฏิเสธที่จะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่และเดินทางกลับบ้านเกิด

ใช่แล้วล่ะ การเดินทางช่วยให้ตัวละครในหนังรักษาแผลใจได้ แต่บางครั้งพวกเขาก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่อื่นเพียงเพื่อต้องการเปลี่ยนสภาพแวดล้อม โดยพวกเขาเชื่อว่าการย้ายไปอยู่ที่อื่นทำให้คนมีความสุขมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าคิดผิด แล้วก็ทำให้พวกเขาเดินทางกลับบ้านเกิด

นักวิจัยได้อธิบายว่าเหตุใดบางครั้งผู้คนถึงอยู่ได้ยากทั้ง ๆ ที่เป็นสถานที่ที่พวกเขาอยากอยู่มาก นั่นเป็นเพราะพวกเขามีความสุขอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งตัวบ่งชี้นี้กำหนดโดยการสำรวจชาวบ้าน คือในภูมิภาคที่มีความสุข คนที่ไปอยู่ก็จะมีความสุขมากขึ้นด้วย ในขณะที่สถานที่ที่ดูซึมเศร้าทำให้พวกเขาอยากเดินทางกลับบ้านเกิด นอกจากนี้ผู้คนก็พร้อมที่จะสละอาชีพการงานของตนเพื่อความสบายใจอยู่บ่อยครั้ง

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: สวีทนัก...รักเราไม่เก่าเลย (Sweet Home Alabama, 2002), แค้นลั่น ปังเวอร์ (The Dressmaker, 2015), ต๊กกะใจ...ตื่นขึ้นมา 30! (13 Going on 30, 2004)

7. รู้จักกันอย่างกะทันหัน

ปัจจุบันในยุคของแอปหาคู่ การพบเจอกันอย่างกะทันหันของพระเอกนางเอกในหนังดูเหมือนเป็นเรื่องไม่สมจริง เพราะไม่น่าเชื่อว่าคนแปลกหน้าจะกลายมาเป็นเนื้อคู่กันได้

พอลล่า เดวิส (Paula Davis) ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความเครียดเชื่อว่าการสื่อสารกับคนแปลกหน้าเป็นสิ่งที่ดี โดยเธอถึงขั้นกล่าวขอบคุณสำหรับการพูดคุยกับคนขับรถแท็กซี่ เพราะเธอได้พบเพื่อนใหม่และได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับความสัมพันธ์ของเธอ

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: จะปิ๊งมั้ย..ถ้าหัวใจผิดแผน (The Wedding Planner, 2001), ทู้ทซี่ (Tootsie, 1982), สืบ ซ่อน เงื่อน (Intuition, 2020)

8. นางเอกของเรื่องเข้าใจดีว่าแฟนในอุดมคติไม่ได้เกิดมาเพื่อเธอ

หลายครั้งที่นางเอกในเรื่องได้เลิกรากับแฟนหนุ่มทั้ง ๆ ที่ดูเหมาะสมกันและไปชอบคนที่ดูไม่เข้ากัน ซึ่งความสนใจที่ตรงกัน รูปร่างหน้าตา และความร่ำรวยจะเลือนหายไปเมื่อพูดถึงเรื่องความรู้สึก

ด็อกเตอร์ลิซ่า ไฟร์สโตน (Doctor Lisa Firestone) คิดว่าคนที่ตรงกับอุดมคติของเราไม่ได้เข้ากันกับเราเสมอไป โดยเธอได้กล่าวว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่การหาคู่ในอุดมคติ แต่คือการเรียนรู้ที่จะสานความสัมพันธ์ของเราต่างหาก

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: นางมารสวมปราด้า (The Devil Wears Prada, 2006), รักหลอก ๆ แต่ใจบอกใช่ (A Perfect Plan, 2012), ปุ๊บปั๊บสลับกิ๊ก (The Switch, 2010)

9. นักสร้างอาชีพเข้าใจดีว่าความสุขไม่ใช่แค่ในการทำงาน

ในช่วงเริ่มต้นของหนังรักโรแมนติกหลาย ๆ เรื่อง เราจะได้เห็นตัวละครที่แข็งแกร่งและประสบความสำเร็จ ซึ่งค่อย ๆ รู้ว่างานของพวกเขานั้นไม่ได้ทำให้พวกเขามีความสุข แล้วการปรากฏตัวของความรักอย่างกะทันหันก็ช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนสถานการณ์

เราไม่ควรวิจารณ์พวกเขาและปาป๊อบคอร์นใส่หน้าจอ เพราะงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าคนบ้างานไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ โดยผู้คนที่อยู่แต่กับงานต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าและปัญหาการนอนหลับบ่อยขึ้น ดังนั้นในบางครั้งการหยุดพักจากอาชีพการงานและให้ความสนใจกับแง่มุมอื่น ๆ ของชีวิตก็เป็นประโยชน์

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: พบชายงามยามตุ๊บป่อง (The Back-Up Plan, 2010), ลุ้นรักวิวาห์ฟ้าแลบ (The Proposal, 2009), วิท เลิฟ...ฟรอม ดิเอจ ออฟ รีซั่น (With Love... from the Age of Reason, 2010)

10. หลังจากเลิกกัน ตัวละครตัดสินใจที่จะให้โอกาสในการสานสัมพันธ์อีกครั้ง

ตัวละครในหนังรักโรแมนติกที่เลิกรากันไปและกลับมาคบกันอีกครั้ง แน่นอนว่าแทบไม่มีใครทำลายสถิติของราเชล (Rachel) กับรอส (Ross) จากเรื่อง เฟรนส์ (Friends) ได้ด้วยจำนวนการเลิกรากันหลายต่อหลายครั้งของพวกเขา แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังน่าสนใจทีเดียวที่จะได้ชมความรักของคู่นี้ที่กระโดดข้ามกันไปมา

ที่จริงแล้วไม่มีอะไรเลวร้ายในการกลับไปคบกับคนรักคนเดิมหลังจากที่ผ่านไปนานหลายเดือนหรือหลายปี บางทีเหตุผลของการเลิกราก็ไม่สำคัญและไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป นอกจากนี้เราควรจำไว้ว่าคนเรามักจะเปลี่ยนแปลง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการให้โอกาสพวกเขาอีกครั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญ

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: รักเเรก ตลอดกาล (The Best of Me, 2014), รักจากใจจร (Dear John, 2010), มัมมา มีอา! วิวาห์วุ่น ลุ้นหาพ่อ (Mamma Mia!, 2008)

11. คนใกล้ชิดที่ช่วยในการตัดสินใจที่ถูกต้อง

หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ และญาติ ตัวละครในหนังรักโรแมนติกเกินครึ่งก็คงจะไม่มีวันได้ครองคู่กับคนรักของพวกเขา นั่นเป็นเพราะเพื่อนหรือคนที่รักได้ให้คำแนะนำอย่างชาญฉลาดในนาทีสุดท้าย

ในชีวิตจริงแล้วสิ่งสำคัญคือการฟังคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนที่รู้จักตัวคุณดี หรือคนที่สามารถประเมินสถานการณ์อย่างมีสติ

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: เจอกลเกลอวิวาห์อลเวง (My Best Friend’s Wedding, 1997), จะปิ๊งมั้ย..ถ้าหัวใจผิดแผน (The Wedding Planner, 2001), เพื่อนเจ้าสาว 27 วิวาห์ เมื่อไหร่จะได้เป็นเจ้าสาว? (27 Dresses, 2008)

12. บอก “รัก” ในนาทีสุดท้าย

ตัวละครในหนังรักโรแมนติกชอบที่จะเลื่อนเวลาออกไปจนนาทีสุดท้ายและสารภาพความรู้สึกในช่วงเวลาที่ไม่สะดวกสุด ๆ อย่างในงานแต่งงานของพวกเขากับคนอื่นหรือก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

แน่นอนว่าการพูดความรู้สึกของคุณในทันทีย่อมดีกว่า แต่ผู้คนก็ต้องการเวลาที่จะตระหนักและยอมรับ อย่างในกรณีนี้ การพูดว่า “ผม/ฉันรักคุณ” ในนาทีสุดท้ายก็ยังดีกว่าการเงียบ อีกทั้งยังดีกว่าที่จะไม่เก็บอารมณ์ความรู้สึกของเราเอาไว้และปล่อยให้สงสัยว่าชีวิตเราจะเป็นยังไง หากเราได้สารภาพความรู้สึกลึกซึ้งต่อพวกเขาไป

  • เราเห็นฉากนี้ได้ในหนังเรื่อง: แต่งงานเฮอะ...เจอะผมแล้ว (The Wedding Singer, 1998), ผู้ชายคนนี้ฉันขอ(ยืม) (Something Borrowed, 2011), ทุกหัวใจมีรัก (Love Actually, 2003)

คำแนะนำใดในหนังรักโรแมนติกที่ดูเป็นประโยชน์สำหรับคุณ ? แล้วคุณเคยใช้คำแนะนำนี้ในชีวิตจริงบ้างหรือเปล่า ?

เครดิตภาพพรีวิว Supplied by Capital Pictures / East News
แชร์บทความนี้