ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

13 ภาพยนตร์ที่ให้ความสนใจกับเสื้อผ้าในเรื่อง มากกว่าพล็อตเรื่องอีกนะเนี่ย ชุดเจ๋ง ๆ ของตัวละครต่าง ๆ มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่น่าทึ่งมากจริง ๆ

ไม่เพียงแค่นักแสดงเท่านั้น แต่ยังคงมีทีมออกแบบเสื้อผ้าด้วยที่ควรได้รับคำขอบคุณจากการสร้างสรรค์ให้ตัวละครในภาพยนตร์ต่าง ๆ ออกมาได้ยอดเยี่ยมสมจริงมาก ไม่ว่านักแสดงจะเล่นเก่งแค่ไหน แต่ส่วนมากแล้วผู้คนมักจะจดจำตัวละครหนึ่ง ๆ ได้จากรูปลักษณ์ของตัวละครตัวนั้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้ เหล่าทีมดีไซเนอร์อาจจะกำลังพยายามจะอธิบายหรือบอกใบ้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวละครตัวนั้นผ่านทางเครื่องแต่งกายของพวกเขาอยู่ก็เป็นได้

ชีวิตสดใสพบว่ายิ่งดีไซเนอร์ทำได้ดีแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งไปกับภาพยนตร์ได้มากขึ้นเท่านั้นเลยทีเดียว

เฮาส์ ออฟ กุชชี่ (2021)

ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) มีเสื้อผ้าถึง 54 ชุดที่ต้องสวมใส่ แถมไม่มีแม้แต่รายละเอียดเล็กน้อยใด ๆ ของชุดที่ถูกนำมาใช้ซ้ำเลยด้วย ไม่ซ้ำแม้แต่ต่างหูคู่เดียว โดยทีมดีไซเนอร์ทำแม้แต่สร้างชุดเจ้าสาวเลียนแบบแพทริเซีย เรจจานี (Patrizia Reggiani) จริง ๆ มาเลยด้วยซ้ำ... แต่พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะไม่ใช้ชุดนั้น

ประเด็นก็คือ ชุดต้นแบบมันเรียบง่ายไปหน่อย และก็ปกปิดมิดชิดมากเกินไปด้วย ดังนั้นพวกเขาก็เลยให้เลดี้ กาก้าได้สวมชุดเดรสสีขาวเลิศหรูอลังการที่ใช้ลูกไม้ทำมือ พร้อมทั้งเสื้อรัดหน้าอกรูปหัวใจ โดยทีมออกแบบเสื้อผ้าได้อธิบายไว้เช่นนี้ “ชุดเดรสชุดนี้ถ่ายทอดช่วงเวลาที่แพทริเซียและเมาริซิโอ (Maurizio) มีความสุขด้วยกันจริง ๆ ในความสัมพันธ์ ณ ตอนนั้น”

ครูเอลล่า (2021)

ชั่วขณะที่ครูเอลล่า (Cruella) ปรากฏกายออกมาจากรถขยะใน “ชุดเดรส” ของเธอ ซึ่งทำให้ไม่ว่าใครก็ไม่อาจละสายตาได้ มันเป็นจังหวะที่ลงตัวมากจริง ๆ ในเนื้อเรื่องตอนนั้น

โดยเอมมา สโตน (Emma Stone) ที่รับบทนำในเรื่องนี้ได้กล่าวว่านี่เป็นชุดที่เธอชอบมากเลยในภาพยนตร์เรื่องนี้ นักออกแบบเสื้อผ้าทำได้ดีเป็นอย่างมาก พวกเขาทำชุดราตรีที่มีหางยาวถึง 12 เมตร (40 ฟุต) มันหนักจนเธอขยับตัวไม่ได้ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องมาติดหางนี้เอาในนาทีสุดท้ายตอนที่เธอขึ้นไปบนรถขยะเพื่อถ่ายฉากนั้นโดยเฉพาะ

แม่มด โรอัลด์ ดาห์ล (2020)

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ มือของแม่มดจะไม่เหมือนมือของมนุษย์ทั่วไป พวกเธอจะมีนิ้วเพียงแค่ 3 นิ้วเท่านั้น นี่คือสาเหตุว่าทำไมพวกเธอจึงต้องซ่อนนิ้วมือเอาไว้ในถุงมือ

หากคุณลองมองให้ชัด ๆ คุณจะเห็นว่าบางนิ้วก็ไม่เคยงอเลยจริง ๆ เพราะตรงนั้นไม่มีนิ้วอยู่จริงน่ะสิ นักออกแบบชุดในภาพยนตร์เรื่องนี้มีไอเดียบรรเจิดที่สามารถทำให้บางส่วนของมือขยับไม่ได้จริง ๆ

สัตว์มหัศจรรย์: อาชญากรรมของกรินเดลวัลด์ (2018)

หนึ่งในซีนที่น่าจดจำที่สุดของหนังเรื่องนี้คือการแปลงโฉมจากศิลปินในคณะละครสัตว์ให้กลายเป็นงูตัวหนึ่ง โดยนักออกแบบเสื้อผ้าใช้เวลาคิดนานมากว่าจะสร้างสรรค์ให้ชุดเดรสนี้ออกมาให้ดูเป็นมาเลดิกตัส (maledictus) อย่างไรดี (คือหญิงสาวผู้ต้องคำสาปให้กลายร่างเปลี่ยนเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น)

เธอจำเป็นต้องสร้างชุดเดรสที่ดูเหมือนหนังของงู และเพื่อที่จะทำให้เอฟเฟกต์นี้สมจริงให้ได้ ศิลปินสาวจะต้องใช้ลูกไม้และเพิ่มฟอยล์เข้าไปในนั้น จากนั้นก็เย็บจีบที่แขนเสื้อและช่วงล่างของเดรสให้ออกมาดูเหมือนงูกำลังขดตัว

บ้านเพริกริน เด็กสุดมหัศจรรย์ (2016)

ตัวละครที่เอวา กรีน (Eva Green) ต้องแสดง ซึ่งก็คือมิสเพริกริน (Miss Peregrine) นั้น สามารถกลายร่างเป็นนกได้ แต่ผู้สร้างไม่ต้องการให้ลุคของเธอชี้ชัดเกินไปนักว่าเธอสามารถทำอะไรได้บ้าง นั่นคือสาเหตุว่าทำไมจึงมีการแทรกสิ่งพิเศษ ๆ ลงไปที่แขนเสื้อของเธอ ซึ่งเป็นผ้าไหมที่จะส่องประกายสีเมทัลลิคออกมา

เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวละครนี้เคลื่อนไหว ผู้ชมที่ตั้งใจชมจะสามารถสังเกตเห็นความวับวาวเล็ก ๆ บนลวดลายที่แขนเสื้อของเธอ ซึ่งสิ่งนี้ตั้งใจที่จะบอกผู้ชมให้รู้ว่ามันคือขนนกนั่นเอง

ทริปลวงโลก (2010)

ชุดราตรีสีดำอันงามสง่าที่แอนเจลินา โจลี (Angelina Jolie) สวมใส่ออกงานสังคมนั้นเป็นชุดที่ทำด้วยมือ โดยใช้เวลาในการทำถึง 7 สัปดาห์เลยทีเดียว โดยชุดเดรสชุดนี้จะมีชั้นที่เป็นผ้าไหมสีดำและผ้าซาตินจับจีบเป็นชั้นอยู่ที่ขอบชุด โดยดีไซเนอร์จำได้ว่า “เราอยากได้เดรสที่ดูเป็นผู้หญิงมาก ๆ ที่อาจมีจุดกำเนิดมาจากความสง่างามในอดีต แต่ก็ต้องไม่แย่งซีนสร้อยคอ ซึ่งมันรับกับหุ่นและใบหน้าของเธอได้อย่างสวยงามมากเลย”

ดูน (2021)

ทีมดีไซเนอร์ได้พัฒนาลุคใหม่ ๆ ให้ตัวละครตัวนี้อย่างน้อยก็ 1,000 ลุคได้ แต่ชุดสติลสูท (stillsuit) กลับเป็นชุดที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะเป็นชุดที่มีไว้เพื่อปกป้องผู้คนบนดาวอาร์ราคิส (Arrakis)

“ชุดสติลสูทต้องออกแบบให้สามารถใส่ได้กับคนหลาย ๆ คนและเจสัน โมโมอา (Jason Momoa) ผู้ซึ่งสูงถึง 193 เซนติเมตร (6’4”) ใส่ชุดนี้แล้วต้องออกมาดูดีให้ได้ และรีเบ็คก้า เฟอร์กูสัน (Rebecca Ferguson) ผู้มีความสูง 165 เซนติเมตร (5’5″) ใส่แล้วก็ต้องดูดีด้วยเช่นกัน" ผู้สร้างชุดนี้บอกไว้เช่นนี้

เทศกาลสยอง (2019)

ต้องใช้คน 5 คนกับเวลา 1 เดือนเลยนะที่จะสร้างชุดเดรสให้กับตัวละครที่ฟลอเรนซ์ พิวจ์ (Florence Pugh) แสดงได้ ซึ่งเป็นชุดที่ปรากฏในช่วงตอนจบของภาพยนตร์ พวกเขาต้องเย็บดอกไม้ผ้าไหม 10,000 ดอกลงไปบนเดรสชุดนี้เพื่อทำให้ดูออกมาเป็นธรรมชาติมากที่สุด

ซึ่งชุดนี้ทำออกมาหนักมาก ต้องมีการวางเก้าอี้ไว้ข้างใต้เพื่ออย่างน้อยฟลอเรนซ์จะได้นั่งได้ระหว่างถ่ายทำเทคต่าง ๆ มงกุฎดอกไม้ก็หนักมากเช่นกัน ผู้สร้างชุดนี้ได้บอกว่าการที่ขยับร่างกายได้อย่างยากลำบากเช่นนี้ช่วยให้นักแสดงสาวเล่นฉากจบได้ออกมาดราม่าตามที่ต้องการเลยแหละ

ลางนรก (2019)

ถึงแม้ว่าภาพยนตร์จะไม่เคยบอกว่าอายุของตัวละครที่แสดงโดยรีเบ็คก้า เฟอร์กูสัน (Rebecca Ferguson) แท้จริงแล้วมีอายุเท่าไหร่ แต่นักออกแบบเสื้อผ้าก็ได้พยายามเป็นอย่างหนักที่จะให้คนดูได้รู้ว่าเธอมีอายุประมาณไหน

พวกเขาให้เธอใส่หมวกทรงสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบไม่มีใครจะใส่ในศตวรรษที่ 21 ถึงแม้ว่าเธอจะสวมเสื้อผ้าสมัยใหม่เช่นไรก็ตาม แต่หมวกทรงสูงก็เป็นสัญลักษณ์ว่าเธอเคยอยู่ในยุคก่อนหน้านี้มาก่อน นอกจากนี้หมวกยังทำให้เธอดูเหมือนนักมายากลหลอน ๆ ที่พร้อมจะหลอกล่อเด็กพิเศษ ๆ ให้มาหลงกลติดกับดักได้

ซินเดอเรลล่า (2015)

นักออกแบบเสื้อผ้าในภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าว่ามันยากมากที่จะทำชุดแต่งงานของซินเดอเรลล่า (Cinderella) ออกมาได้ เพราะเธอเคยปรากฏกายในชุดเดรสที่สง่างามมาแล้วในงานเต้นรำ ดังนั้นชุดแต่งงานของเธอจึงควรที่จะอย่างน้อยต้องดูดีเท่ากับชุดนั้น แต่จะให้ออกมาเหมือนกันไม่ได้

ดังนั้น พวกเขาเลยทำชุดที่สง่างามยิ่งกว่าขึ้นมา เพื่อให้ดูไม่น่าเบื่อจนเกินไป พวกเขาจึงใช้มือปักชุดเดรสนั้นเป็นลวดลายดอกไม้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดเดรสดอกไม้ในช่วงทศวรรษที่ 1950

อิท โผล่จากนรก (2017)

เพราะเพนนี่ไวซ์ (Pennywise) มีชีวิตอยู่มาแล้วกว่า 100 ปี นักออกแบบเสื้อผ้าจึงพยายามที่จะสื่อสารข้อความนี้ออกมาผ่านทางเสื้อผ้าของเขา โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปภาพตัวตลกและนักกายกรรมในหลาย ๆ ยุคสมัย ตั้งแต่ยุควิกตอเรีย (Victorian) ยุคเอลิซาเบธ (Elizabethan) และยุคเรเนซองส์ (Renaissance) นอกจากนี้พวกเขายังอยากให้เสื้อผ้ามีรอยพับเยอะ ๆ ให้ดูเหมือนสิ่งมีชีวิต ซึ่งตัวตลกตัวนี้ก็ทำให้เราคิดถึงตัวดักแด้นั่นเอง

ฝัน-หลอน-ที่โซโห (2021)

ในภาพยนตร์นั้น นักศึกษาสาวจากมหาวิทยาลัยแฟชั่นคนหนึ่งต้องพบว่าตัวเองมาอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และเธอได้มาพบกับนักร้องมือสมัครเล่น ซึ่งบทนี้แสดงโดยแอนยา เทย์เลอร์-จอย (Anya Taylor-Joy) โดยนักท่องเวลาสาวคนนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากชุดเดรสสีพีชของเธอ และตัดสินใจที่จะลงมือทำเสื้อผ้าชุดนั้นขึ้นมาจริง ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริง

ทีมนักออกแบบเสื้อผ้าอยากจะสร้างลุคที่ทำให้แอนยาออกมาดูน่าทึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายลักษณะนิสัยของตัวละครด้วย โดยดีไซเนอร์คนหนึ่งจำได้ว่า “ฉันสงสัยว่าเธอจะไปได้ชุดเดรสที่สวยหรูงามสง่ามาจากที่ไหน เธอเองก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่มาจากครอบครัวร่ำรวยอะไรด้วย คนส่วนใหญ่ (ในเวลานั้น) มักจะตัดเสื้อผ้าเองจากแบบตัดเสื้อที่เป็นกระดาษ ฉันก็เลยใช้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นตัวอ้างอิง” และในที่สุด ชุดนี้ก็ดูราวกับว่าเด็กสาวทำขึ้นมากับมือตัวเองจริง ๆ

สเปนเซอร์ (2021)

ทีมนักออกแบบเสื้อผ้าสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งใจที่จะไม่ทำเสื้อผ้าออกมาเลียนแบบเจ้าหญิงในตำนานแบบเป๊ะ ๆ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องการให้ผู้ชมเชื่อได้อย่างง่ายดายว่าเจ้าหญิงไดอาน่า (Diana) ตัวจริงจะต้องทรงสวมเสื้อผ้าเหล่านี้แน่ ทีมผู้สร้างสรรค์ชุดนี้พยายามที่จะถ่ายทอดถึงจิตวิญญาณในช่วงเวลานั้นลงบนเสื้อผ้าที่คริสเตน สจ๊วต (Kristen Stewart) จะต้องสวมใส่

นอกจากนี้ ทีมผู้ออกแบบเสื้อผ้าไม่ได้ต้องการที่จะใช้งบประมาณการถ่ายทำถึง 1/4 ไปกับการทำชุดแต่งงานของเจ้าหญิงไดอาน่าขึ้นมาใหม่ พวกเขาก็เลยซื้อชุดแต่งงานในช่วงทศวรรษที่ 1980 มาทำการปรับแก้เพียงเล็กน้อย หากคุณลองเปรียบเทียบรูปภาพของเจ้าหญิงไดอาน่า กับคริสเตน สจ๊วต คุณจะเห็นได้ว่าแทบไม่เห็นความต่างเลย

คุณประทับใจกับเสื้อผ้าในภาพยนตร์เรื่องไหนมากที่สุดกันนะ ?

เครดิตภาพพรีวิว House of Gucci / BRON Studios, Last Night in Soho / Complete Fiction
แชร์บทความนี้