ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

9 สิ่งที่เราซักบ่อยเกินไป และอีก 9 สิ่งที่เรามักจะลืมมัน

คนส่วนใหญ่ใช้ทรัพยากรอย่างสูญเปล่า เพราะตามสถิติแล้ว 90% ของเสื้อผ้าที่เราซักนั้นไม่ได้สกปรก ในขณะเดียวกัน ตอนที่เราซักเสื้อผ้าอยู่ชิ้นหนึ่ง เราก็ดันลืมไปว่ายังมีชิ้นอื่น ๆ ที่ควรโยนลงเครื่องซักผ้าทันที

พวกเราที่ชีวิตสดใสชอบความละเอียดแม่นยำ ดังนั้นเราจึงได้หาว่าเราควรใช้เครื่องซักผ้าบ่อยแค่ไหนดีนะ

1. กางเกงเลกกิ้ง vs กางเกงยีนส์

การซักกางเกงยีนส์บ่อยครั้งจะชะล้างสีและทำให้ผ้ายีนส์เสียรูปทรง อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงยังทำให้เกิดการหดตัว ซึ่งจะทำให้กางเกงยีนส์ตัวโปรดของคุณดูต่างไปจากวันที่คุณซื้อมันมา “คุณอยากรักษากางเกงยีนส์ของคุณไว้มั้ย ? ถ้าอย่างงั้นอย่าใส่มันลงในเครื่องซักผ้า” นี่คือคำแนะนำของชิป เบิร์ก (Chip Bergh) ซีอีโอบริษัทลีวายส์ (Levi’s) โดยเขาได้สารภาพว่าเขานั้นไม่ได้ซักกางเกงยีนส์ด้วยเครื่องมานานกว่า 10 ปีแล้ว

“ควรซักกางเกงยีนส์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่เพียงแต่รักษาสีและรูปทรงของมันเท่านั้น แต่ยังเป็นการประหยัดน้ำ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

แน่นอนว่าคุณก็ไม่ควรสุดโต่งจนเกินไป แต่นึกเอาไว้เสมอว่ากางเกงยีนส์ได้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับพวกคาวบอยและคนงาน ซึ่งคนเหล่านั้นก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องความสะอาดมากนัก จึงใช้พวกเขาเป็นตัวอย่างได้ ดังนั้นควรใจเย็น ๆ และทำความสะอาดกางเกงยีนส์ของคุณเมื่อมันสกปรกมาก ๆ ในน้ำเย็น และอย่าลืมกลับด้านในของกางเกงออกด้วย

สิ่งนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับกางเกงเลกกิ้ง เพราะปัญหาของเสื้อผ้าที่รัดแน่นคือมันดูดซับเหงื่อได้ดี แถมยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งส่งผลให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นหากคุณใส่กางเกงเลกกิ้งในชีวิตประจำวันแล้วล่ะก็ คุณสามารถซักมันได้หลังจากใส่ไป 2-3 ครั้ง แต่ถ้าคุณใส่มันเล่นกีฬาที่เคลื่อนไหวเยอะ ๆ ก็ให้ซักมันหลังการใส่ในแต่ละครั้ง

2. สปอร์ตบรา vs เสื้อชั้นในที่ใส่ทุกวัน

มีการสำรวจผู้หญิงประมาณ 200 คนและสอบถามว่าพวกเธอนั้นซักเสื้อชั้นในบ่อยแค่ไหน พบว่าผู้หญิงประมาณ 1 ใน 3 บอกว่าจะซักมันทุก ๆ 2 สัปดาห์ ในขณะที่คนอื่น ๆ นั้นนาน ๆ ครั้งถึงจะซัก เนื่องจากพวกเธอไม่ได้ใส่เสื้อชั้นในซ้ำกันทุกวัน

การมีเสื้อชั้นในหลายชุดทำให้คุณสามารถเปลี่ยนได้ทุกวันและซักมันนาน ๆ ครั้งได้ ซึ่งช่วยให้มันมีสภาพที่ดูดีตลอดจนรักษารูปทรงและไม่ย้วย แต่ทว่าทำแบบนั้นกับสปอร์ตบราไม่ได้ เพราะคุณควรซักมันหลังจากที่สวมใส่ทุกครั้ง

3. พรมเช็ดเท้าในห้องน้ำ VS ผ้าเช็ดตัว

คุณต้องเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวหลังจากที่ใช้ไปแล้ว 3-4 ครั้ง และเพื่อลดจำนวนการซักลงเหลือครั้งเดียวในทุก ๆ 2 สัปดาห์ คุณก็สามารถใช้ผ้าเช็ดตัว 2 ผืนได้ เพื่อให้ผ้าแต่ละผืนมีโอกาสแห้งได้ดีระหว่างที่ใช้งาน หากคุณละเลยกฎข้อนี้แล้วล่ะก็ ผ้าเช็ดตัวของคุณอาจมีกลิ่นเหม็นอับและผ้าสีขาวจะกลายเป็นสีเทาได้

พรมเช็ดเท้าในห้องน้ำสกปรกบ่อยกว่าที่เราคิด เพราะผ้าเปียก ๆ ที่อยู่ในห้องที่มืดและอุ่นเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา ดังนั้นควรซักพรมเช็ดเท้าในห้องน้ำสัปดาห์ละครั้ง เพราะมันสามารถมีคราบรอยเท้าติดอยู่ได้

4. หมวกแก๊ป vs หมวกกันหนาว

ถ้าคุณไม่ได้สวมหมวกใบเดิมตลอดทั้งฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว การซักมันโดยเฉลี่ยทุก ๆ 2 เดือน หรือ 3 ครั้งในหนึ่งฤดูกาลก็เพียงพอแล้ว โดยส่วนใหญ่สามารถซักมันได้ง่าย ๆ ด้วยเครื่องซักผ้าโดยที่ไม่ทำลายคุณภาพของมัน แต่อย่าลืมอ่านฉลากที่ระบุวิธีการดูแลรักษาด้วยล่ะ

ขอแนะนำให้ซักหมวกแก๊ปด้วยมือในน้ำเย็น 2 ครั้งในหน้าร้อน เพื่อไม่ให้ปีกหมวกเสียหาย

5. ปลอกหมอน vs ผ้าปูที่นอน

ฝุ่นที่สะสมอยู่ในผ้าปูที่นอนประกอบไปด้วยไวรัส สปอร์ แบคทีเรีย และจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายอื่น ๆ และเมื่อสูดดมเข้าไปอย่างต่อเนื่อง อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ หายใจลำบาก และระคายเคืองต่อเยื่อบุผิวได้ อีกทั้งเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วของมนุษย์ยังเป็นอาหารของตัวไรฝุ่นอีกด้วย ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ควรซักผ้าปูที่นอนทุก ๆ 10 วัน

แล้วอย่าลืมใส่ใจกับปลอกหมอนเป็นพิเศษ คุณควรเปลี่ยนปลอกหมอนให้บ่อยกว่าผ้าปูที่นอนและผ้านวม เพราะปลอกหมอนมีเศษเครื่องสำอาง ความมัน และแบคทีเรียสะสมอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวและผื่นผิวหนังอื่น ๆ ได้

6. ผ้าห่ม vs ผ้าคลุมเตียง

หากคุณใส่ผ้าคุลมเตียงลงในเครื่องซักผ้าพร้อมกับผ้าปูที่นอนแล้วล่ะก็ ให้หยุดทำแบบนั้นซะ เนื่องจากผ้าชิ้นนี้ควรซักทุก ๆ 2 เดือน เพราะมันไม่ได้สัมผัสกับผิวของคุณบ่อยขนาดนั้น

เมื่อพูดถึงผ้าห่มที่ใช้ห่มร่างกายของคุณ ให้เพ่งความสนใจไปที่ความรู้สึกของตัวคุณและความถี่ในการใช้ผ้าห่ม เพราะโดยปกติแล้วมันจะถูกซักหรือนำไปผึ่งไม่น้อยกว่าเดือนละครั้ง

7. เสื้อแจ็คเก็ต vs เสื้อโค้ท

เสื้อแจ็คเก็ตควรซักในน้ำเย็นไม่เกินหนึ่งครั้งในทุก ๆ 3 เดือน เพราะว่าเสื้อตัวนอกไม่ได้สัมผัสกับผิวหนัง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องซักบ่อยครั้ง แล้วเคล็ดลับที่ดีก็คือ ให้ใส่ลูกเทนนิสหลาย ๆ ลูกลงในเครื่องซักผ้า เพื่อป้องกันไม่ให้ขนของเสื้อจับกันเป็นก้อน

ส่วนวิธีในการขจัดคราบบนเสื้อโค้ทควรทำอย่างละเอียดรอบคอบ โดยอ่านฉลากและทำความเข้าใจว่าเสื้อนั้นทำมาจากวัสดุอะไร เพราะเสื้อโค้ทส่วนใหญ่ไม่สามารถซักได้ และเพื่อไม่ให้เสื้อเสียหาย ก็ควรใช้บริการซักรีดโดยเร็วจะดีกว่า

8. หมอน vs ผ้านวม

สิ่งสกปรกและไขมันจากเส้นผมกับผิวหนังแทรกซึมเข้าไปในหมอน และทำให้เกิดเชื้อราได้ หมอนที่ไม่ได้ซักในเครื่องซักผ้าเป็นเวลาหลายปีจะดึงดูดไรฝุ่นที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ในคน แต่ถ้าคุณใช้ปลอกหมอน การซักหมอนทุก ๆ 3 เดือนก็เพียงพอแล้ว ขณะเดียวกันควรทำความสะอาดหัวเตียงเดือนละครั้งด้วย

ควรทำความสะอาดผ้านวมทุก ๆ 6 เดือนเท่านั้น เพราะว่ามันไม่สกปรกเท่ากับหมอน

9. ผ้าม่านโปร่งแสง vs ผ้าม่าน

ผ้าม่านหนา ๆ ที่แขวนริมหน้าต่างควรทำความสะอาดปีละครั้ง อีกทั้งยังต้องดูดฝุ่นอยู่เป็นประจำ เพราะการทำแบบนี้จะช่วยป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ อย่างไรฝุ่น ไม่ให้สะสมอยู่ในนั้น

ส่วนผ้าม่านโปร่งแสงที่แขวนไว้ตรงกลาง คอยดักจับสิ่งสกปรกกับฝุ่นละอองที่ปลิวเข้ามาในบ้านจากหน้าต่างที่เปิดเอาไว้ นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เราควรทำความสะอาดมันอย่างน้อยทุก ๆ ครึ่งปี ยิ่งผ้าม่านห้องครัวควรทำความสะอาดให้บ่อยขึ้น

โบนัส: ม่านห้องน้ำสามารถทำความสะอาดได้เช่นกัน

ม่านห้องน้ำสะสมเศษน้ำสบู่และทำให้เกิดคราบต่าง ๆ ขึ้นตามกาลเวลา หากม่านทำจากโพลีเอสเตอร์หรือผ้าทอก็สามารถซักในเครื่องซักผ้าได้

หากมันเริ่มขึ้นราแล้ว ก่อนอื่นเลยคุณต้องแช่มันในน้ำส้มสายชูละลายน้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมง แล้วใช้แปรงขัดคราบออก หลังจากนั้นค่อยซักมันในเครื่องซักผ้าที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส แล้วใส่เบกกิ้งโซดาครึ่งถ้วยลงไปด้วย

คุณคิดว่าตารางการทำความสะอาดนี้เป็นที่ยอมรับได้มั้ย ? หรือมีอะไรที่คุณอยากจะแก้ไขหรือเปล่า ? พวกเรายินดีรับฟังความคิดเห็นของคุณในช่องคอมเมนต์นะ !

เครดิตภาพพรีวิว Nobilior / depositphotos, Twitter / East News
แชร์บทความนี้