2 ศิลปินผู้ถ่ายทอดภาพถ่ายสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติได้อย่างงดงามราวกับออกมาจากเทพนิยาย
ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราทุกคนล้วนมีความผูกพันอันลึกซึ้งกับสถานที่ที่เราอยู่อาศัยและเติบโตมา วัฒนธรรมแต่ละแห่งในแต่ละท้องถิ่นของมนุษย์ ล้วนมีเรื่องเล่าเป็นตำนานที่เล่าขานถึงต้นกำเนิดของเราทั้งสิ้น โดยคาโรลีน ฮยอร์ท (Karoline Hjort) และ รีตตา อิโกะเน็น (Riitta Ikonen) คือศิลปินช่างภาพที่สามารถถ่ายทอดภาพความสวยงามของธรรมชาติที่มีความผูกพันโยงใยกับมนุษย์ ผ่านคอลเลกชั่นรูปภาพสวย ๆ ที่แสนจะมีเอกลักษณ์ ซึ่งภาพถ่ายชุดนี้เป็นการถ่ายรูปผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เพื่อยกย่องรากเหง้าทางวัฒนธรรมของผู้คนเหล่านี้ โดยรังสรรค์ธรรมชาติออกมาเป็นประติมากรรมที่สวมใส่ได้เพื่อเตือนให้พวกเราได้หวนกลับไปตระหนักถึงที่มาของเราทุกคน
ชีวิตสดใสอยากจะร่วมแบ่งปันผลงานบางส่วนของศิลปินผู้เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ทั้งสองท่านนี้ ที่นับวันฝีไม้ลายมือของพวกเธอก็จะยิ่งเจนจัดยิ่งขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป นอกจากนี้ แต่ละรูปต่างมีเรื่องราวของมันซ่อนอยู่ เราจึงอยากจะพาคุณไปทำความรู้จักนิทานพื้นบ้านจากผู้สูงวัยเหล่านี้ ทีละรูป ทีละรูป
ดวงตาที่ใหญ่พอ ๆ กับจานชาม
ดวงตาที่ใหญ่พอ ๆ กับจานชาม (Eyes as Big as Plates) เป็นชื่องานศิลปะชุดนี้ โดยคาโรลีน ฮยอร์ทและรีตตา อิโกะเน็น ได้ใช้จินตนาการของเธอบันทึกภาพถ่ายแต่ละภาพที่ไม่เหมือนใครออกมาได้ โดยภาพถ่ายชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตัวละครหนึ่งในนิทานพื้นบ้านของชาวนอร์ดิก (Nordic) ที่ช่างถ่ายภาพคู่นี้เริ่มที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นผ่านทางผู้สูงวัย เมื่อเวลาผ่านไป ความคิดแรกเริ่มนี้ก็ได้รับการพัฒนาให้เป็นการบอกเล่าสิ่งที่ลึกซึ้งไปยิ่งกว่านั้น นั่นก็คือแนวคิดการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของมนุษย์สมัยใหม่
เหล่าผู้สูงอายุที่กลายมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของธรรมชาติ ช่วยทำให้รูปภาพพิเศษ ๆ เหล่านี้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่นางแบบนายแบบของภาพเท่านั้น แต่พวกเขายังทำตัวให้กลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อมรอบกายเพื่อแสดงถึงต้นกำเนิดทางวัฒนธรรมของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง นักสัตววิทยา ช่างประปา นักร้องโอเปร่า แม่บ้าน ศิลปิน นักวิชาการ หรือแม้แต่นักกระโดดร่มวัยเกษียณ พวกเขาต่างให้ความร่วมมือที่จะทำให้โครงการรูปถ่ายโครงการนี้เป็นความจริงขึ้นมา
จินตนาการในภูมิทัศน์
ตั้งแต่ปี 2011 คู่หูศิลปินช่างภาพคู่นี้ก็ได้ออกเดินทางไปถ่ายภาพผู้สูงวัยในหลายประเทศทั่วโลก โดยให้พวกเขาเหล่านั้นเป็นประหนึ่งสรรพสิ่งที่อาศัยอยู่ในภูมิทัศน์นั้น ๆ โดยผู้คนเหล่านั้นจะแต่งตัวไปตามลักษณะต่าง ๆ ของธรรมชาติที่อยู่รอบกายพวกเขา
ช่างภาพทั้งสอง ฮยอร์ทและอิโกะเน็น จะร่วมมือกันสรรค์สร้างประติมากรรมเคลื่อนที่เหล่านี้ แต่ในบางกรณี ภาพถ่ายเหล่านั้นก็จะเป็นภาพที่ถ่ายทำโดยไม่มีการเตรียมการมาก่อนในสถานที่ที่ผู้สูงวัยเป็นฝ่ายเลือกเอง ภาพถ่ายสรรพสิ่งในตำนานเหล่านี้ส่วนมากแล้วจะเป็นการบันทึกภาพผู้คนที่ศิลปินทั้งสองได้พบโดยบังเอิญระหว่างการเดินทางของพวกเขาทั้งสิ้น
ประสบการณ์ชีวิตและธรรมชาติ
บทบาทของผู้สูงวัยในภาพถ่ายชุดนี้ยังเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาเช่นกัน โดยโครงการดวงตาที่ใหญ่พอ ๆ กับจานชามมีเป้าหมายในการก้าวข้ามพรมแดนระหว่างผู้คน และส่งเสริมให้สังคมได้ค้นพบกลุ่มประชากรที่อาจเคยหลงลืมไป ตลอดจนทำให้สังคมมีความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับประสบการณ์แบบใหม่ โดยเราจะได้ค้นพบองค์ความรู้ ทัศนคติ และความแข็งแกร่งที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวผู้ร่วมถ่ายทอดแต่ละคน
รากเหง้าของเราต่างมีสายสัมพันธ์โยงใยถึงกัน
ผู้สูงวัยบางคนในรูปสามารถเลือกที่ที่เขาและเธอจะถูกถ่ายภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นบนก้อนหิน หรือบนหาดทราย โดยที่สถานที่ที่เกือบจะเต็มไปด้วยมนต์ขลังเหล่านี้ต่างมีความหมายพิเศษต่อพวกเขาแต่ละคนต่างกันไป รูปภาพแต่ละรูปเป็นการถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในแง่มุมที่แตกต่างกัน ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น
ให้ดวงตาของเราเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว
การที่คุณจะเข้าถึงโลกแห่งนิทานพื้นบ้านเหล่านี้ได้ คุณจะต้องเปิดดวงตาของคุณให้กว้าง ชื่อของโครงการนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่ง ที่กล่าวถึงสุนัขตัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ใต้สะพาน โดยดวงตาของมันมีขนาดใหญ่โตเท่ากับจานชามเลยทีเดียว โดยนี่เป็นเรื่องที่นำมาอ้างอิงเพื่อทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น ก่อนจะนำไปสู่บทสรุปในตอนท้ายของรูปถ่ายหลายเซ็ตนี้
และต้องรวมถึงเวทมนตร์ที่อยู่หลังเลนส์ด้วย
รูปภาพทุกภาพล้วนใช้กล้องฟิล์มในการบันทึกภาพทั้งสิ้น ซึ่งการใช้กล้องยุคเก่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ขั้นตอนการถ่ายภาพท้าทายมากยิ่งขึ้น แต่ยังทำให้ภาพน่าสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งช่างภาพและสรรพสิ่งในภาพจะต้องผันผ่านประสบการณ์การแสดงความเชื่อมโยงกับองค์ประกอบต่าง ๆ ในธรรมชาติ ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายชั่วโมงกว่าที่จะได้ภาพที่สมบูรณ์แบบเพียงภาพหนึ่ง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็คุ้มค่ามากเลยทีเดียว
การเดินทางยังคงดำเนินต่อไป
โครงการพิเศษโครงการนี้ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยคาโรลีน ฮยอร์ทและรีตตา อิโกะเน็น ได้เดินทางไปไกลถึงรอบโลกและได้ถูกจัดแสดงในห้องแสดงผลงานทางศิลปะลำดับต้น ๆ หลายแห่ง โดยหนังสือภาพถ่ายดวงตาที่ใหญ่พอ ๆ กับจานชามเล่มนี้เปิดตัวออกมาในปี 2017 และติดรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบรางวัลหนังสือภาพถ่ายประจำปีที่ปารีส (Paris Photo—Aperture Foundation Photobook Awards) ในหมวดหมู่ “หนังสือภาพถ่ายเล่มแรก” อีกด้วย โดยเป็น 1 ใน 20 เล่มที่ผ่านเข้ารอบ จากผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 1,000 เล่ม
นอกจากนี้ ยังมีหนังสือภาพถ่ายเล่มที่สอง ที่ใช้ชื่อว่า ดวงตาที่ใหญ่พอ ๆ กับจานชาม 2 (Eyes as Big as Plates 2) ซึ่งเป็นหนังสือรวมภาพผลงานภาพถ่ายใหม่ ๆ 50 ผลงาน รวมทั้งยังมีบันทึกภาคสนามที่จดบันทึกไว้ตลอดระยะเวลาการทำงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกอีกด้วย
คุณชอบรูปไหนมากที่สุด ? คุณมีเรื่องราวอะไรที่คุณอยากจะทำเป็นโครงการของตัวเองบ้างไหม ? ร่วมแบ่งปันกันได้ในคอมเมนต์นี้เลย