ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

10 เรื่องที่พ่อแม่ทำซึ่งทำให้ลูกอารมณ์เสียและหงุดหงิดมากขึ้น

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ คุณจะรู้ว่าการเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อันที่จริงอาจเป็นเรื่องยากมากด้วย คุณต้องใช้ความอดทนและการคิดอย่างชาญฉลาด ไม่มีคู่มือไหนที่มีคำตอบทั้งหมดสำหรับทุกสถานการณ์ที่คุณเจอ คุณต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีพฤติกรรมบางอย่างที่ลูก ๆ ของเราทำซึ่งเราไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้และเมื่อเราพยายามแก้ไขก็อาจกลับกลายเป็นการทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก ซึ่งอาจทำให้ทั้งพ่อแม่และลูก ๆ ต่างต้องเหนื่อยใจ แต่ข่าวดีก็คือมีคำอธิบายอยู่บ้างเมื่อพวกเขาทำตัวแปลก ๆ เช่น ตัดผมเองหรือเมื่อพวกเขาปฏิเสธที่จะไปที่ไหนสักแห่งกับคุณ

1. พยายามควบคุมความหุนหันพลันแล่นที่คุณอาจรู้สึก

หลายครั้งที่พ่อแม่อาจหงุดหงิดหลังจากที่บอกลูก ๆ ว่าอย่าทำอะไรสักอย่างแต่พวกเขาก็ยังคงทำเรื่องที่เราขอไม่ให้ทำอยู่ดี แต่ความจริงก็คือเด็ก ๆ ควบคุมแรงกระตุ้นในการอยากฝ่าฝืนกฎตลอดเวลาไม่ได้ การควบคุมตนเองเป็นทักษะที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่จนกว่าจะถึงช่วงวัยรุ่นเพราะงั้นคุณก็ควรรู้ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่จะควบคุมแรงกระตุ้นนั้นใช้เวลานานมาก

ความใจเย็นและมีสติเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ เนื่องจากจะทำให้คุณมีเวลาคิดและให้การตอบสนองที่เป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับลูก รวมทั้งคำนึงถึงความตั้งใจของคุณในฐานะพ่อแม่ด้วย

2. การกระตุ้นมากเกินไป

เป็นการดีที่จะให้ลูก ๆ ของเรากระตือรือร้นโดยกระตุ้นให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้แต่ตามคำกล่าวที่ว่า “อะไรที่มันมากเกินไป มันก็ไม่ดีนักหรอก” ถ้าเราทำงานหนักเกินไปในแต่ละวัน เราก็อาจทำให้ลูก ๆ รู้สึกว่าถูกกระตุ้นมากเกินไปได้ สิ่งนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเด็กต้องออกกำลังกายมากเกินไป ประสบกับเหตุการณ์รุนแรงหรือเสียงดังอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ปัจจัยที่สิ่งเหล่านี้มีเหมือนกันก็คือมันมากเกินกว่าที่เด็ก ๆ จะรับไหวและทำให้พวกเขารู้สึกเหนื่อย สิ่งนี้จะสะท้อนออกมาในอารมณ์ของพวกเขาและยังทำให้พวกเขามีสมาธิสั้นได้อีกด้วย ปฏิกิริยาต่อการถูกกระตุ้นมากเกินไปนี้อาจแตกต่างกันไปตามอายุของเด็ก ตัวอย่างบางส่วนของพฤติกรรมประเภทนี้ ได้แก่

  • ในทารกแรกเกิดและทารก: หงุดหงิด เหนื่อยล้า หันหน้าหนี กำหมัดและเตะ
  • ในเด็กวัยอนุบาล: เหน็ดเหนื่อย หงุดหงิด ร้องไห้โดยที่อธิบายอารมณ์ไม่ได้ อารมณ์ฉุนเฉียว ปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ
  • ในเด็กวัยประถม: ความซุ่มซ่าม การเรียกร้องความสนใจมากขึ้น การขอความช่วยเหลือมากกว่าปกติในโรงเรียนหรือเมื่ออยู่บ้าน

เพราะงั้นจึงแนะนำให้สร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมกับช่วงเวลาสงบ ๆ เพื่อให้ลูก ๆ รู้สึกปลอดภัยและสงบ

3. อ่านอารมณ์ของลูก ๆ ไม่ได้เมื่อพวกเขามีอารมณ์ที่ไม่ปกติ

บางครั้งในฐานะผู้ใหญ่ คุณก็อาจมีอารมณ์แปรปรวนได้เหมือนกัน เช่น เมื่อคุณเหนื่อย เมื่อคุณนอนหลับไม่สนิท เมื่อคุณเครียดหรือแค่เพราะคุณหิว สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเด็กได้เหมือนกัน แต่ความแตกต่างที่สำคัญคืออย่างที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของพวกเขาในสถานการณ์พิเศษเหล่านี้ต่ำกว่าผู้ใหญ่มาก เพราะงั้นถ้าสังเกตอารมณ์แปรปรวนเหล่านี้ได้ เราก็จะตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะเด็ก ๆ มักไม่รู้วิธีสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา

มีหลายวิธีที่จะเข้าหาพวกเขา เพื่อให้พวกเขากล้าบอกคุณว่าพวกเขารู้สึกยังไงหรือผ่านอะไรมาบ้างในระหว่างวัน คุณควรเริ่มต้นด้วยการทำให้แน่ใจว่าพวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สงบเสมอ เพื่อให้คุณถามพวกเขาได้โดยตรง การทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน คุณทำแบบนั้นได้ด้วยการเล่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคุณที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เดียวกันซึ่งอาจช่วยให้คุณสร้างผูกพันทางอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจได้

4. ไม่ยอมให้พวกเขาแสดงความรู้สึกด้านลบของตัวเอง

เด็ก ๆ มีความรู้สึกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ไม่เหมือนพวกเราตรงที่พวกเขาซ่อนหรือกดข่มไว้ไม่ได้ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากล่าวถึงก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเด็กที่ยังพัฒนาทักษะการควบคุมตนเองได้ไม่เต็มที่ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาก็มักไม่รู้วิธีแสดงความรู้สึกด้วยคำพูด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการพยายามช่วยพวกเขาค้นหาคำพูดที่เหมาะสมเพื่ออธิบายความรู้สึกของตัวเองถึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีที่ดีในการทำคือการถามพวกเขาโดยตรงว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งให้พื้นที่กับพวกเขา คุณยังใช้ซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่พวกเขาชอบเพื่อแปลสิ่งที่พวกเขารู้สึกในชีวิตจริงได้ด้วย

5. ไม่เข้าใจความจำเป็นในการเคลื่อนไหวและการอยู่ไม่นิ่งของพวกเขา

หลายครั้งในฐานะพ่อแม่ คุณก็อาจรู้สึกหงุดหงิดเพราะผู้ใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมเด็ก ๆ ถึงอยู่นิ่งสักหน่อยไม่ได้และไม่ว่าคุณจะบอกให้เด็กยืนนิ่งแค่ไหน พวกเขาก็จะไม่ทำตามอยู่ดี เด็กส่วนใหญ่มีพลังมากจนรู้สึกว่าจำเป็นต้องเคลื่อนไหวอยู่เรื่อย ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะพยายามแก้ไข จะดีกว่าถ้าคุณช่วยให้พวกเขาได้ใช้พลังงานนั้นออกไปบ้าง ตัวอย่างเช่น คุณไปเล่นในสวนสาธารณะ ขี่จักรยานหรือเล่นฟุตบอลหรือกีฬาอื่น ๆ ที่ทำให้พวกเขาเคลื่อนไหว เป็นต้น

6. กีดกันการอยากทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองของพวกเขา

เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ เด็ก ๆ ก็อยากเป็นอิสระและรู้สึกว่าพวกเขาออกความเห็นหรือตัดสินใจเองได้ คุณคงเคยสังเกตมาก่อนว่าพวกเขามักจะต่อต้านพ่อแม่เมื่อพ่อแม่พยายามช่วยอะไรบางอย่าง พ่อแม่มักจะมองว่าเป็นเรื่องแปลกและพวกเขาก็ไม่เข้าใจทำไมเด็ก ๆ ถึงตอบสนองแบบนั้น แต่ถ้าลูกอยากจัดเตียงด้วยตัวเองก็ปล่อยให้พวกเขาทำดีกว่า ท้ายที่สุด นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาทำสิ่งต่าง ๆ ตามแผนของตัวเองได้และทำให้พวกเขารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น

7. ไม่เข้าใจข้อเสียของจุดแข็งของพวกเขา

ทุกคนแตกต่างกันและนั่นรวมถึงเด็ก ๆ ด้วย ซึ่งหมายความว่าเราทุกคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน บางคนมีสมาธิมาก บางคนมีแนวโน้มที่จะใช้สัญชาตญาณมากกว่าและบางคนก็อาจเป็นคนระมัดระวังหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นพวกชอบความสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับเหรียญ แต่ละความถนัดมี 2 ด้านเสมอ ตัวอย่างเช่น การเป็นผู้ชอบความสมบูรณ์แบบอาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการทำงาน แต่อาจทำให้เกิดปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อย่างที่คุณได้เห็นจากตัวอย่างนั้น จุดแข็งของความถนัดของบุคคลอาจโดดเด่นในกิจกรรมเฉพาะ ตัวอย่างเช่น เด็กที่เป็นพวกชอบความสมบูรณ์แบบในโรงเรียนอาจกลายเป็นคนไม่มีสมาธิอย่างมากที่บ้าน

สิ่งสำคัญคือต้องไม่ลืมว่าในฐานะพ่อแม่ เราควรแยกแยะพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกในช่วงเวลาหนึ่งออกจากพฤติกรรมโดยทั่วไปของลูกให้ได้ ขอแนะนำให้ระบุพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เพื่อแก้ไขและในขณะเดียวกันก็ต้องไม่บอกว่าบุคลิกภาพของพวกเขาไม่ถูกต้อง การทำแบบนั้นจะป้องกันเด็กจากการถูกทำร้ายทางจิตใจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

8. หยุดความอยากเล่นของพวกเขา

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เด็ก ๆ มีพลังงานล้นเหลือและทำให้มีแรงผลักดันในการเล่นมาก ถ้าลูกของคุณเป็นแบบนี้ คุณควรจำไว้ว่าการเล่นเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตเพราะช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะต่าง ๆ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แต่บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจการชวนให้เล่นของเด็ก ๆ และสับสนสิ่งนั้นกับพฤติกรรมที่ไม่ดี ที่จริงแล้ว พวกเขาก็แค่อยากแบ่งปันอารมณ์และสื่อสารกับผู้อื่น นั่นเป็นเหตุผลที่ควรเล่นกับพวกเขาเมื่อถูกชวน แม้ว่ามันจะขัดจังหวะกิจกรรมประจำวันบางอย่างก็ตาม

9. การติดต่อทางอารมณ์

เด็กเป็นเหมือนฟองน้ำและพวกเขาตอบสนองต่อทัศนคติ อารมณ์และความคิดที่พ่อแม่หรือคนที่เป็นแบบอย่างรอบตัวพวกเขา นั่นหมายความว่าถ้าผู้ใหญ่เครียดอยู่ตลอดเวลา ลูก ๆ ของพวกเขาก็มักจะแสดงอารมณ์นั้นเช่นกัน ปฏิกิริยาของพวกเขาอธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการติดต่อทางอารมณ์ ซึ่งตามหลักประสาทวิทยาศาสตร์แล้วมันเป็นผลจากการเลียนแบบที่นอกเหนือไปจากการลอกเลียนแบบท่าทางเท่านั้น แต่รวมไปถึงอารมณ์ด้วย ราวกับว่ามันเป็นบรรยากาศที่ลอยอยู่ในห้อง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรักษาสภาพแวดล้อมที่สงบเพื่อให้เด็กซึมซับอารมณ์เชิงบวกได้

10. การกำหนดขอบเขตที่ไม่แน่นอน

การกำหนดขอบเขตที่ไม่ชัดเจนมักเป็นปัจจัยที่สร้างความสับสนให้กับเด็ก เนื่องจากพวกเขาไม่เข้าใจว่าทำไมวันหนึ่งพวกเขาจึงได้รับรางวัลเป็นของหวานโดยไม่มีเหตุผลชัดเจนแต่ในวันถัดไปกลับไม่ได้ แม้ว่าพวกเขาจะทำเรื่องเดิมก็ตาม มันจึงสำคัญมากที่จะต้องทำตามกฎเกณฑ์ที่คุณกำหนดให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นการให้รางวัลหรือการกำหนดขอบเขต เนื่องจากเด็ก ๆ จะรู้สึกหงุดหงิดที่ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและอาจตอบสนองต่อเรื่องนั้นได้

ลูก ๆ ของคุณมีพฤติกรรมที่ “ไม่ดี” อะไรอีกบ้างที่คุณเคยเข้าใจผิด ? มีคำแนะนำคล้าย ๆ กันที่คุณอยากจะแนะนำอีกบ้างไหม ?

แชร์บทความนี้