6 ตัวอย่างพฤติกรรมชวนส่ายหัว พ่อแม่จ๋าจงตื่น การมีลูกไม่ได้หมายความว่าคุณจะวิเศษกว่าคนอื่น หรือมีสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่นนะ กลับมาเป็นคนมีเหตุผลหน่อยเถอะ
พ่อแม่ทุกคนต่างรักลูกของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น นี่เป็นเรื่องธรรมชาติมาก แต่ก็ยังมีพ่อแม่บางคนที่รู้สึกว่าความเป็นพ่อแม่ให้สิทธิประโยชน์บางอย่างที่ไม่มีการเขียนไว้ให้กับพวกเขาโดยอัตโนมัติซึ่งทำให้พวกเขาเป็นคนที่ดีกว่าและฉลาดกว่าคนอื่น ๆ พวกเขามีความสุขที่จะแบ่งปันประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้ให้คนอื่น ๆ ทันทีโดยที่ไม่ต้องรอให้ใครถาม พวกเขาจะทำให้เพื่อน ๆ ต้องเสียเวลาอันมีค่าไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ เพื่อเล่าเรื่องอันยืดยาวของลูก ๆ ตัวเอง และคาดหวังให้คนอื่น ๆ ต้องให้ลูก ๆ ของตัวเองแซงคิวจ่ายเงินในซูเปอร์มาร์เก็ต นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของพฤติกรรมแย่ ๆ ที่พ่อแม่บางคนอาจจะเป็นก็ได้
ชีวิตสดใสคิดว่าเราไม่ควรจะสุดโต่งไปเสียทุกอย่าง แม้แต่เรื่องดีงามอย่างการอุทิศตนเพื่อครอบครัว เราได้รวบรวมตัวอย่างความรักของพ่อแม่ที่ไร้สาระที่สุดเอาไว้แล้ว และการศึกษาต่าง ๆ ของเราก็ได้พิสูจน์แล้วว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่เพียงแค่ทำให้คนอื่นรำคาญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยต่อตัวพ่อแม่และลูก ๆ เองด้วย
1. การแหกกฎเกณฑ์ของสังคมโดยใช้ลูกเป็นข้ออ้าง
สำหรับผู้ใหญ่บางคน เด็ก ๆ กลายเป็นใบอนุญาตให้พวกเขาทำพฤติกรรมบางอย่างได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นการละเมิดกฎเกณฑ์ที่ยอมรับกันได้โดยทั่วไปก็ตาม ซึ่งอาจเป็นเรื่องอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ อย่างการขอแซงคิวในซูเปอร์มาร์เก็ต ถอดเสื้อผ้าให้เด็กปัสสาวะกลางสวนสาธารณะ หรือการพาลูกชายที่ค่อนข้างโตแล้วเข้าไปในห้องลองเสื้อผ้าของผู้หญิง หากคุณขอให้พ่อแม่พวกนี้หยุดทำพฤติกรรมเหล่านี้ พวกเขาอาจจะเริ่มตะโกนใส่คุณเรื่องสิทธิเท่าเทียมกันก็เป็นได้
2. ความคิดที่ว่าเด็กมักเป็นฝ่ายถูกเสมอ
ในอดีต เด็ก ๆ มักจะต้องทำตามสิ่งที่พ่อแม่พูดและแทบไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรในครอบครัวเลย ในทางกลับกัน พ่อแม่สมัยใหม่บางคนก็มักจะทำให้เด็ก ๆ มั่นใจว่าพวกเขาเป็นสมาชิกคนที่สำคัญที่สุดในบ้าน และคิดว่าการว่ากล่าวติเตียนพวกเขาอาจทำให้พวกเขามีบาดแผลไปชั่วชีวิต
คนพวกนี้มักชอบหาเหตุผลมารองรับเมื่อลูกของตัวเองทำผิดเสมอ “ลูกสาวฉันกินลูกอมในร้านทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้จ่ายเงินงั้นเหรอ ? ก็เธอยังเป็นเด็กนี่ เธออยากกินนี่นา !” ผู้ใหญ่แบบนี้มักเป็นพวกที่ไม่อยากรับผิดชอบกับพฤติกรรมเลวร้ายที่ลูก ๆ ก่อไว้ และแค่พูดว่าลูกของตัวเองเป็นเด็กเอาไว้ก่อนโดยมักบอกว่าพวกเขากำลังเรียนรู้เท่านั้น แน่ล่ะ เรื่องนี้ต้องทำให้คนอื่นโมโหแน่
3. ความคิดที่ว่าคุณดีกว่าคนที่ไม่มีลูก
บางทีลูก ๆ ที่เกิดมาใหม่ก็ไม่ได้เป็นแค่สมาชิกใหม่ของครอบครัวสำหรับทุกคนเท่านั้น บางครั้งเด็ก ๆ ก็ถูกใช้เป็นวิธีการยกระดับสถานะทางสังคมของพ่อแม่อีกด้วย ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าเมื่อพวกเขาได้ให้กำเนิดเด็ก ๆ ขึ้นมาแล้ว เท่ากับว่าพวกเขาได้ทำตามหน้าที่ของพลเมืองอย่างเต็มรูปแบบ และลูกก็ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นคนสำคัญมากยิ่งขึ้น
น่าเสียดาย ความคิดเช่นนี้มักพบได้ในคนที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จด้านอื่น ๆ หรือไม่มีเรื่องน่าสนใจอื่นใดในชีวิต ดังนั้น พอได้เป็นพ่อแม่คน จึงง่ายมากที่พวกเขาจะรู้สึกเหนือกว่าเพื่อน ๆ ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ไม่มีลูก หรือคิดว่าพวกเขาสามารถเรียกเพื่อนตัวเองว่าเป็นคนไม่รู้จักโตได้เพราะพวกนั้นเอาแต่ไปเที่ยวพักร้อนปีละ 5 รอบ แทนที่จะสร้างครอบครัวเป็นหลักเป็นฐาน แต่ผลลัพธ์เดียวที่ได้จากพฤติกรรมแบบนี้ก็คือ คนอื่น ๆ จะไม่อยากพูดกับคนประเภทนี้อีก
4. การมีทัศนคติดูถูกคนที่ไปทำงาน
หลังจากคลอดลูกแล้ว ผู้หญิงบางคนอาจจะตัดสินใจที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดของตัวเองไปกับการเลี้ยงลูก ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ปกติธรรมดามาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีลูกหลายคน อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเลือกไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกที่ถูกต้องเพียงทางเดียว เพราะยังคงมีผู้หญิงที่อยากกลับไปทำงานให้เร็วที่สุด ไปจนถึงบางคนที่ยอมที่จะล้มเลิกการมีลูกเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
ซึ่งทางเลือกนี้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงกับทางเลือกของคนที่รู้ตัวว่าลูกกลายเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวของพวกเธอ ซึ่งแม่ ๆ เหล่านั้นต้องการให้คนอื่น ๆ ให้ความเคารพนับถือตัวเองเพียงเพราะพวกเธอมีลูก แม่ ๆ เหล่านี้มักจะคิดจริง ๆ ว่าคนอื่นทุกคนเกลียดการทำงานกันทั้งนั้น แต่ที่ต้องทำก็แค่เพื่อเงินเพียงอย่างเดียว ดังนั้นคุณแม่เหล่านี้มักจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเหล่าแม่ ๆ ที่ทำงานไปด้วย
5. ความภาคภูมิใจว่าไม่ว่าเรื่องอะไรลูกฉันต้องมาเป็นที่หนึ่งเสมอ
พ่อแม่บางคนคิดว่าลูก ๆ ของตัวเองควรต้องได้รับในสิ่งที่ดีที่สุดของที่สุด โดยคุณแม่จากครอบครัวเช่นนั้นอาจอธิบายด้วยความภาคภูมิใจเสียเหลือเกินว่าตนเองยอมละทิ้งการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเพื่อมาดูแลลูกเลยนะ และคุณพ่อก็อาจโม้ได้ว่าเขาไม่ได้ไปพักร้อนมาหลายปีแล้วเพราะลูก ๆ มักอยากได้อะไรสักอย่างอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นใหม่ อุปกรณ์อะไรใหม่ ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ยากที่จะพูดได้ว่าวิธีนี้มันดีหรือแย่แค่ไหนสำหรับตัวเด็ก ๆ แต่เด็กที่คิดว่าตัวเองคือศูนย์กลางของโลกใบนี้มีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยโตเท่าไหร่ แถมยังไม่อยากจะดูแลตัวเองเพราะเอะอะพ่อแม่ก็จะจัดการดูแลให้เองเสมอ ซึ่งสิ่งนี้เองนำไปสู่สถานการณ์ที่ว่ายังต้องมีญาติผู้ใหญ่บางคนที่มาคอยดูแลลูกชายหรือลูกสาวที่โตแล้วของตัวเองอยู่เสมอเวลาพวกเขาหาทางออกไม่ได้หรือต้องการความช่วยเหลือ
6. การร้องขอสิทธิพิเศษอยู่เสมอ
แน่นอนว่านี่ต้องไม่ใช่เรื่องอย่างการขอให้ช่วยสละที่นั่งให้คนท้องในขนส่งสาธารณะแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ประเภทนี้มักจะขอลาหยุดหรือขอเจ้านายให้อนุญาตให้พวกเขากลับบ้านไวกว่าคนอื่น ๆ เพราะมีลูก ๆ รออยู่ที่บ้าน
พวกเขามักจะขอให้คนอื่นปล่อยให้พวกเขาแซงคิว หรือขอให้เด็กได้นั่งบนม้านั่งในสวนเพราะเด็กต้องได้นั่งในร่ม เรื่องเหล่านี้ทำให้คนรู้สึกราวกับว่าพ่อแม่พวกนี้ใช้ลูกเป็นโล่เพื่อพยายามให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ แน่นอนแหละที่คนอื่นต้องรู้สึกรำคาญอย่างมาก และมันยิ่งน่าหงุดหงิดหากคน ๆ นั้นเองก็มีลูก แต่ไม่เคยคิดว่าคนอื่นติดค้างอะไรพวกเขาแค่เพียงเพราะพวกเขาเป็นพ่อแม่คนแบบนี้
โบนัส: ทำไมการปล่อยให้ชีวิตของคุณหมุนอยู่รอบตัวลูกของคุณจึงเป็นเรื่องที่อันตราย
หากคุณอ่านผลการศึกษาสมัยใหม่ต่าง ๆ คุณจะพบว่าการหมกมุ่นอยู่กับลูกนั้นเป็นอันตรายต่อทั้งเด็กและผู้ปกครอง
- คุณแม่ยังสาวหลาย ๆ ท่านยอมรับว่าพวกเธอรู้สึกหดหู่และไม่พอใจที่ตนเองไม่มีเวลาว่างหรือกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ บ้างเลย
- พ่อแม่หนุ่มสาวมักจะอิจฉาคนที่ไม่มีลูก เพราะพวกเขาสามารถไปเที่ยวได้บ่อยกว่า แถมยังใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับอะไรที่ตนเองต้องการได้
- คนที่ทุ่มเทชีวิตทั้งหมดให้กับลูก ๆ มักจะรู้สึกว่างเปล่าราวกับสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อลูก ๆ โตขึ้นและออกจากบ้านไป
- เด็ก ๆ ที่ได้รับความใส่ใจมากจนเกินไปตั้งแต่เล็กมักจะโตมาเป็นคนขี้วิตกกังวลและเสี่ยงจะมีภาวะซึมเศร้าได้ง่าย พวกเขาจะปรับตัวให้คุ้นเคยกับชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างยากลำบาก เพราะพวกเขาไม่คุ้นกับการต้องพึ่งพาตนเอง
ในทางตรงกันข้าม เด็ก ๆ ที่คุ้นชินกับการได้ตัดสินใจทำอะไร ๆ ด้วยตัวเองจะเป็นเด็กที่มีความสุขมากกว่าและมีความมั่นใจมากกว่า และพ่อแม่ที่มีเวลามากขึ้นให้แก่กันและกัน หรือมีเวลามากขึ้นให้กับสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบนั้นมักจะไม่ค่อยหย่าร้างกัน และยังรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับครอบครัวของตนเองมากขึ้น
ชีวิตคนเรานั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายหลายหลาก และเด็ก ๆ ก็เป็นส่วนสำคัญในเรื่องราวเหล่านั้น แต่พวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแง่มุมเดียวของชีวิต คุณเคยเจอพ่อแม่ที่แสดงพฤติกรรมเหมือนที่เราเขียนไว้บ้างไหม ?