ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

8 ประโยคที่ควรหลีกเลี่ยง กับ 8 ประโยคที่ควรใช้แทน หากอยากเลี้ยงให้ลูกมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ

บาดแผลในวัยเด็กอาจกลายเป็นสาเหตุให้ก่อเกิดเป็นปัญหาทางด้านจิตใจในวัยผู้ใหญ่ได้ นี่คือคำที่นักจิตวิทยากล่าวไว้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรจะเลี้ยงดูลูก ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม บางครั้งนั่นก็เป็นเรื่องยาก เพราะแม้แต่ประโยคทั่วไปที่เราพูดออกไปอย่างบริสูทธิ์ใจก็อาจส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อเด็กคนหนึ่งได้โดยที่เราไม่รู้ตัว

ชีวิตสดใสได้รวบรวมคำพูดที่คุณควรหลีกเลี่ยงที่จะใช้พูดกับลูกของคุณ และเลือกคำพูดที่ควรพูดมาให้ เพื่อที่จะช่วยให้คุณเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่มั่นใจและมีความสุขได้

1. “ลูกไม่เป็นไรหรอกน่า”

ถึงแม้ว่าการพูดว่า “ลูกไม่เป็นไรหรอกน่า” อาจฟังดูเหมือนเป็นการฝึกความอดทนให้กับลูก แต่คริสติน่า เคลเมอร์ (Christina Clemer) นักการศึกษาที่ได้รับการรับรองคนนี้กลับกล่าวว่ามันเป็นการทำให้เด็กนึกสงสัยในความรู้สึกของตัวเอง

ลองนึกภาพถ้าลูกหกล้ม ผิวหนังถลอกเล็กน้อย และตอนนี้ก็เริ่มร้องไห้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรใช่ไหมล่ะ ? อย่างไรก็ตาม การได้ยินประโยคว่า “ไม่เป็นไรหรอกน่า” เมื่อพวกเขาล้มและมีความรู้สึกบางอย่างอยู่นั้นจะทำให้พวกเขาสับสน ทำให้พวกเขารู้สึกไม่เชื่อในอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเปล่า ๆ ดังนั้น แทนที่จะพูดเช่นนั้น สิ่งสำคัญคือต้องให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าความรู้สึกที่พวกเขากำลังรู้สึกนั้นถูกต้องแล้ว แล้วค่อยเรียกความเชื่อมั่นให้พวกเขาอย่างมั่นใจว่าทุกอย่างจะไม่เป็นไร

2. “ลูกทำได้น่า ง่ายจะตาย”

อีกเรื่องที่สามารถทำให้เด็ก ๆ สับสนกับความรู้สึกของตัวเองได้ก็คือตอนที่คุณพูดว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเป็นเรื่องท้าทายหรือเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา จริง ๆ แล้วมันง่ายมาก การทำให้ลูกของคุณสับสนไม่ได้ช่วยทำให้พวกเขาทำอะไรได้ดีขึ้นหรอกนะ

แทนที่จะพูดแบบนั้น ให้ช่วยรับฟังความกังวลในประเด็นปัญหานั้นของเด็ก ๆ และให้พูดว่าคุณเชื่อมั่นในตัวพวกเขา และแน่ใจว่าพวกเขาจะสามารถทำได้แน่ ๆ

3. “ลูกทำให้แม่โมโหมาก”

นักจิตวิทยากล่าวว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เด็ก ๆ ควรต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมของพวกเขาส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร

การพูดว่า “นั่นทำให้ฉันโกรธมาก” มีนัยยะในแง่ลบอยู่ในนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็ก ๆ มักจะไม่ยอมรับข้อมูลใด ๆ ก็ตามที่ถ่ายทอดออกมาจากน้ำเสียงในด้านลบ ก่อนอื่น คุณควรจะต้องแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระทำนั้น ๆ ของลูกโดยการพูดว่าคุณไม่ชอบสิ่งนั้น แล้วตามด้วยการเริ่มอธิบายว่าการกระทำเช่นนั้นส่งผลต่อความรู้สึกของคุณเช่นไร และเด็ก ๆ ทำผิดที่ตรงไหน

4. “ฉันเกลียดงานของตัวเอง”

ผลการศึกษามากมายแสดงให้เห็นว่าการที่พ่อแม่พูดบ่นเกี่ยวกับความสำเร็จทางด้านการศึกษา อาจส่งผลกระทบที่เลวร้ายกับประสบการณ์การศึกษาของลูก ๆ ได้

เช่นกัน หากคุณไม่อยากให้ลูกรู้สึกผิดหวังกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ตลอดจนมีประสบการณ์แย่ ๆ กับการทำงานตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำงาน จะดีกว่ามากถ้าคุณไม่ใช้คำที่แสดงความรู้สึกออกมาอย่างรุนแรงเหมือนกับคำว่า “ฉันเกลียดงานของตัวเอง” ไม่ได้หมายความว่าคุณจะพูดถึงปัญหาในอาชีพการงานของคุณไม่ได้เอาเสียเลยนะ แต่มันสำคัญมากที่คุณจะไม่เอาแต่พร่ำบ่นและพยายามหาทางจัดการกับปัญหาที่เลวร้ายให้ได้จะดีกว่า

5. “เรื่องนี้ยากเกินไปสำหรับลูก”

นักการศึกษาบางท่านสนับสนุนให้คนเป็นพ่อแม่เลิกบอกลูก ๆ ว่ามีกิจกรรมใด ๆ ที่ “ยากเกินไปสำหรับพวกเขา”

เด็ก ๆ ต้องเรียนรู้สิ่งที่ยากลำบากด้วยตัวเอง กิจกรรมอื่น ๆ ที่ให้พวกเขาทำควรจะยากขึ้นกว่ากิจกรรมก่อนหน้านั้น ถ้าทำแบบนี้แล้ว พวกเขาจะได้เรียนรู้ที่จะออกนอกพื้นที่ที่ปลอดภัยของตัวเองและสามารถตัดสินใจกับอะไร ๆ ได้ หากคุณในฐานะคนเป็นพ่อแม่เป็นฝ่ายตัดสินใจว่าลูกสามารถทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้เสียเอง เท่ากับว่าคุณไม่ปล่อยให้พวกเขาได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง ดังนั้น แทนที่จะทำเช่นนั้น หากคุณเห็นว่าลูกของคุณกำลังจัดการปัญหาอย่างยากลำบากหรือเริ่มเครียด ให้เก็บปัญหานั้นไว้แก้ภายหลังได้ แล้วพวกคุณค่อยแก้ปัญหานั้นไปด้วยกัน

6. “ลูกเป็นบ้าอะไรกันเนี่ย ?”

การถามลูกว่าเป็นบ้าอะไรอาจทำให้พวกเขาคิดจริง ๆ ว่าพวกเขาผิดปกติได้ และจะทำให้พวกเขาเริ่มค้นหาข้อบกพร่องของตัวเอง

อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าพวกเขามีตำหนิ ชี้แนะได้ว่าคุณไม่ชอบให้เขาทำสิ่งนั้น ๆ หรือนิสัยนั้น แต่ให้อธิบายเหตุผลด้วยว่าทำไม และแสดงให้พวกเขาเห็นว่าไม่ว่าอย่างไรคุณก็จะยังรักพวกเขาเสมอ

7. “ไม่เห็นมีอะไรต้องกลัว”

การพูดว่า “ไม่เห็นมีอะไรต้องกลัว” กับลูกนั้นอาจส่งผลต่อความสามารถที่พวกเขาจะเชื่อในความรู้สึกของตัวเองได้ แท้จริงแล้ว มันเป็นเรื่องที่ปกติมากที่เด็ก ๆ มักจะต้องผันผ่านประสบการณ์ความกลัว เด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จะกลัวสิ่งต่าง ๆ ในจินตนาการอยู่แล้ว เช่นหวาดกลัวว่าจะมีสัตว์ประหลาดหลบอยู่ใต้เตียงตอนอายุ 4 ขวบ หรือหวาดกลัวสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในจิตนาการอย่าง “คนชั่ว” ที่อาจจะแอบเข้ามาในบ้านตอนพวกเขาอายุ 7 ขวบ

สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ลูก ๆ ที่หวาดกลัวใจเย็นลง โดยบอกพวกเขาว่าคุณอยู่ที่นั่นสำหรับพวกเขาเสมอและแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาปลอดภัยดี

8. “ลูกนี่(ช่าง)...”

นักการศึกษาต่างแนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงการตราหน้าลูก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตราหน้าในทางลบ หากคุณบอกว่าลูกของคุณเป็นคนขี้อาย ขี้เกียจ หรือชักช้างุ่มง่าม จะยิ่งมีโอกาสให้พวกเขาเริ่มเป็นแบบนั้นจริง ๆ หากพวกเขาไม่เคยเป็นแบบนั้นมาก่อน

แทนที่จะใช้คำเหล่านั้น ให้พยายามมองหาแก่นแท้ของพฤติกรรมไม่ดีที่พวกเขาแสดงออกมา ให้ค้นหาว่าทำไมพวกเขาจึงทำอะไรแบบนั้น และให้คำแนะนำว่าควรจะทำความเข้าใจความสับสนในตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร และแก้พฤติกรรมเหล่านั้นเสีย

คุณเคยรู้มาก่อนไหมว่าประโยคเหล่านี้มีโทษ ? คุณเคยใช้ประโยคเหล่านี้เวลาพูดกับลูกของคุณหรือเปล่า ?

ชีวิตสดใส/ครอบครัว & เด็ก/8 ประโยคที่ควรหลีกเลี่ยง กับ 8 ประโยคที่ควรใช้แทน หากอยากเลี้ยงให้ลูกมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ
แชร์บทความนี้