ชีวิตสดใส
ชีวิตสดใส

15 เหตุผลที่เด็กอาจจะไม่รู้สึกใกล้ชิดกับพ่อแม่ของพวกเขาและสาเหตุที่พวกเขาไม่ควรโทษตัวเอง

ถึงแม้เราจะรู้ว่าปัญหามากมายมีต้นตอจากวัยเด็กของเราก็ตาม แต่เราก็แทบจะไม่เคยพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกเลย เรามักจะพูดว่า “แต่ถึงยังไงเธอก็เป็นแม่ของฉัน” “พวกเขาทำทุกอย่างเพื่อฉัน ฉันควรจะต้องรู้สึกขอบคุณสิ” เรามักจะไม่พูดถึงความรู้สึกในแง่ลบต่อพ่อแม่ของเรา อย่างไรก็ตาม บางครั้งสิ่งที่พวกเขาทำอาจจะทำให้บางคนรู้สึกกังวลใจอย่างมาก แม้แต่ตอนที่พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

เราที่ชีวิตสดใสเห็นด้วยกับความคิดเห็นของนักจิตวิทยาที่ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องรู้สึกใกล้ชิดกับญาติของพวกเขา ถึงแม้ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นพ่อหรือแม่ของพวกเขาก็ตาม วันนี้เราได้รวบรวม 15 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่เป็นพิษในครอบครัว

1.

พ่อแม่บางคนจะเริ่มวิจารณ์ลูกของตัวเองทุกครั้งที่พวกเขารู้สึกโกรธ ผิดหวังหรือแม้แต่เวลาเหนื่อย วิธีการนี้ทำให้พวกเขาได้แสดงความรู้สึกเชิงลบและซ่อนความอ่อนแอของตัวเองเอาไว้ พ่อแม่ประเภทนี้มักจะหาสิ่งที่ไม่น่าพอใจหรือความรู้สึกเชิงลบจากทุก ๆ คำพูดและการกระทำจากลูกของพวกเขา เมื่อเวลาผ่านไป พฤติกรรมจากพ่อแม่พฤติกรรมนี้ไม่ได้หายไปและอาจจะแย่ลงด้วยซ้ำ และเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาก็ไม่อยากจะทำอะไรดี ๆ ให้พ่อแม่ของตัวเอง

2.

มันจะมีพ่อแม่ที่คิดว่าถ้าลูกของตัวเองมีข้าวกินและมีเสื้อผ้าดี ๆ ใส่ นั่นก็ถือว่าพวกเขาเป็นพ่อแม่ที่ยอดเยี่ยมแล้ว พวกเขาอาจจะไม่ว่างและเย็นชากับลูก และอาจจะอยู่ใกล้ชิดแค่ตัวของลูก แต่ไม่ได้ใกล้ชิดทางความรู้สึกเลย เมื่อโตขึ้น เด็กจะรู้สึกว่าพวกเขามีหน้าที่ที่ต้องทำให้พ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือทางการเงิน, การนัดหมอให้ แต่พ่อแม่ประเภทนี้ก็ไม่ควรคาดหวังความอบอุ่นและความใส่ใจจากลูกของพวกเขา

3.

พ่อแม่ที่หลงตัวเองมีบทบาทอย่างมากในชีวิตของลูก พวกเขาจะจับจ้องวิธีการเรียน, วิชาเรียนและความสำเร็จของลูกอย่างมาก พวกเขาเสริมอีโก้ของตัวเองด้วยการใช้ความสำเร็จของลูก แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขากลับมองไม่เห็นบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์และความเป็นอิสระ ไม่ว่าจะความผิดพลาด, การได้เกรดไม่ดีหรือการเล่นกีฬาแพ้ก็เป็นเหตุผลให้เถียงกันได้ เด็กจะรู้สึกว่าพวกเขาถูกกดดันและคิดว่าตัวเองดีไม่พอ เมื่อเด็กเหล่านี้โตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาก็จะพยายามเว้นระยะห่างจากพ่อแม่และญาติให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องรู้สึกกดดันแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีก

4.

พ่อแม่ที่ละเลยความรู้สึกของลูกไม่ได้ปฏิเสธลูกของตัวเองโดยสิ้นเชิง แต่พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับลูกมากพอ เมื่อพ่อแม่เหล่านี้แก่ขึ้น พวกเขาจะรู้สึกได้ว่าลูกไม่ได้แสดงความรัก, ความใส่ใจและความเคารพต่อพวกเขาอย่างเพียงพอ แต่มันก็ไม่ได้น่าประหลาดใจอะไรนัก

5.

เมื่อพ่อแม่ล้อเลียนความชอบของลูก พวกเขาจะรู้สึกอับอายซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งชีวิตของพวกเขาได้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง เด็กอาจจะเริ่มตอบกลับแบบเดียวกัน เช่น ล้อเลียนรสนิยมของญาติพี่น้องและไม่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและความสำเร็จของพวกเขามากนัก

6.

พ่อแม่ที่อายุมากมักจะใช้วลียอดฮิตอย่าง “เราทำทุกอย่างเพื่อแก แต่ตอนนี้แกกลับไม่สำนึกบุญคุณ !” พวกเขารู้ว่าตัวเองมีอำนาจเหนือลูก ๆ และพวกเขาก็จะพยายามรักษาอำนาจนั้นไว้ แม้ว่าลูก ๆ ของพวกเขาจะเริ่มย้ายออกไปอยู่เองแล้ว แต่พ่อและแม่ประเภทนี้ก็อาจจะกดดัน, แบล็คเมล หรือแม้กระทั่งให้ลูกเลือกระหว่างพ่อแม่และคนที่ลูกรัก ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ว่าจะเลือกอะไรก็ดูเหมือนเป็นการทรยศ การตัดสินใจที่ฉลาดที่สุดคืออย่าตกเป็นเหยื่อของวิธีการนี้ แต่เรียนรู้ที่จะสู้เพื่อสิทธิ์ของตัวเองโดยยังคงรู้สึกขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่พ่อแม่ทำเพื่อคุณ

7.

ไม่มีอะไรผิดที่พ่อและแม่จะคาดหวังในตัวลูก แต่มันแย่เมื่อสิ่งนี้กลายเป็นสิ่งที่ครอบงำจิตใจ การถามอยู่เรื่อย ๆ ว่าเมื่อไหร่จะแต่งงานและเมื่อไหร่มีลูกไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกใกล้ชิดมากขึ้นหรือดีขึ้น พ่อแม่ที่ทำแบบนี้ไม่ควรจะแปลกใจถ้าลูกหยุดสื่อสารกับพวกเขา

8.

การสนับสนุนทางจิตใจจากพ่อแม่มีความสำคัญกับลูกพอ ๆ กับการดื่มนมจากเต้าของเด็กทารก บาดแผลทางจิตใจที่เกิดจากคนใกล้ชิดจะหายไปเองไม่ได้ บางคนเลือกที่จะยอมแพ้และบางคนก็กลายเป็นคนขี้อายและกลัวความสัมพันธ์ที่จริงจัง ส่วนบางคนอยากจะพิสูจน์ตัวเองให้คนใกล้ชิดได้เห็นและก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่พวกเขาก็ยังคงรู้สึกถูกทอดทิ้ง

9.

การยอมเล่าความลับให้ผู้ใหญ่ฟังเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็ก มันเป็นทั้งบททดสอบด้านความน่าเชื่อถือและแนวทางในการสนับสนุนมิตรภาพ แต่ถ้าพ่อแม่หัวเราะหรือโกรธหรือแทนที่จะเก็บความลับเอาไว้ แต่กลับเอาไปเล่าให้คนอื่นฟัง ความเชื่อใจในครอบครัวนี้ก็จะหายไปตลอดกาล บ่อยครั้งการทำแบบนี้ทำให้เด็กไม่อยากเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้พ่อแม่ของตัวเองฟังอีกเลย

  • ฉันหยุดเชื่อใจแม่ของตัวเองตั้งแต่ตอนอายุ 7 ขวบ ตอนนั้นฉันเล่าให้แม่ฟังว่าฉันชอบเด็กผู้ชายคนหนึ่งในห้องเรียนและเช้าวันถัดมาญาติทุกคนของฉันก็รู้เรื่องนี้... ฉันรู้ว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่ร้ายแรง แต่เรื่องนี้ทำให้ความเชื่อใจของฉันหมดลงไป ตอนนี้แม่มักจะบ่นว่าฉันเป็นคนที่ปิดบังเพราะฉันไม่เคยเล่าอะไรให้แม่ฟังเลยตลอดเวลา 21 ปี ! และพอฉันบอกสาเหตุว่าทำไมฉันถึงไม่เล่าอะไรให้แม่ฟังเลย เธอกลับไม่เชื่อฉันซะงั้น ! © nfh354410 / Pikabu

10.

“ทำไมลูกถึงร้องไห้อย่างกับเด็กทารกเลยล่ะ ?” “ดูสิ ! ทุกคนกำลังมองแล้วก็หัวเราะเยาะลูกอยู่นะ !” “ลูกร้องไห้แล้วไม่สวยเลย หยุดร้องเดี๋ยวนี้ !” พ่อแม่มากมายคิดว่าการทำให้ลูกของตัวเองรู้สึกอายที่กำลังร้องไห้เป็นเพียงวิธีเดียวที่ทำให้พวกเขาหยุดร้อง แต่การทำแบบนี้มีแต่จะทำให้เด็กกลายเป็นคนเก็บตัวและขี้อายเท่านั้น การร้องไห้เมื่อคุณเจ็บปวดเป็นเรื่องปกติ และเด็กก็จำเป็นจะต้องรับมือกับอารมณ์ที่ไม่ราบรื่น

11.

พ่อแม่ที่หลงใหลกับอำนาจของตัวเองคิดว่าพวกเขามีสิทธิ์ในการเลือกอาชีพของลูก, คนที่ลูกควรจะไปออกเดทและแต่งงานด้วยและงานที่ลูกควรจะเลือก และพวกเขาก็ไม่สนใจด้วยว่าลูกไม่ได้เป็นเด็กแบเบาะอีกต่อไปแล้ว หรือไม่ได้สนใจว่าพวกเขาเป็นผู้ใหญ่ที่ตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเองแล้ว การควบคุมนั้นไร้เหตุผลและข้อโต้แย้งของพ่อแม่ก็คือการบอกว่า “ก็เพราะว่าฉันบอกให้ทำแบบนั้นไง” เด็กที่ยังคงอยู่ใต้การควบคุมของพ่อแม่แบบนี้จะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในเวลาต่อมา พวกเขาไม่ได้เพียงแต่มีความโกรธอยู่ในจิตวิญญาณเท่านั้น แต่พวกเขายังจะพยายามทำตัวให้เป็นคนในแบบที่คนอื่นต้องการให้เป็น โดยเชื่อว่าความต้องการของคนอื่นนั้นสำคัญกว่าความต้องการของตัวเอง

12.

นี่เป็นสถานการณ์ที่พบได้บ่อยมากในครอบครัวที่ลูกคนหนึ่งที่ได้รับความรักมากกว่าคนอื่น เช่น ลูกคนโตต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว และเขาหรือเธอจะถูกสั่งให้ทำทุกอย่างโดยที่คนน้องไม่ต้องทำอะไรเลย และลูกคนโตก็อาจจะถูกบอกว่าให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้อง ถ้าพ่อแม่ไม่เล็งเห็นปัญหานี้ มันอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพี่น้องที่รุนแรงอย่างมากได้

  • ฉันจำได้ว่าตอน 9 ขวบในปี 1996 ฉันเป็นลูกคนโต แล้วมีคนในโทรทัศน์ที่บอกว่าคนเป็นน้องนั้นจะได้รับความรักมากกว่า พ่อของฉันบอกกับแม่ว่า “มันก็จริงไม่ใช่หรอ ?! ฉันสงสัยว่าทำไมนี่ถึง...” และแม่เห็นด้วยกับพ่อ ว้าว เจ็บเหมือนกันนะ © NAZAROVV74 / Pikabu

13.

พ่อแม่บางคนคิดว่าไม่สมควรชื่นชมลูกของตัวเอง ดังนั้นพวกเขาจึงพูดจาขวานผ่าซากกับลูกของตัวเองและวางมาตรฐานที่เด็กเอื้อมไม่ถึง แล้วพวกเขาก็มาประหลาดใจทีหลังพอลูกโตมาเป็นคนขี้อายมาก ๆ

14.

พ่อแม่จอมบงการมักจะเก่งในเรื่องของการทำให้ลูกรู้สึกผิดต่อสิ่งที่พวกเขาทำไม่สำเร็จ พวกเขามักจะพูดว่า “ถ้าฉันไม่ต้องทำเพื่อแก ชีวิตของฉันคงไม่เป็นแบบนี้” คำพูดเหล่านี้เป็นอะไรที่เจ็บปวดมากเมื่อได้ยิน เพื่อที่จะต่อสู้กับความรู้สึกผิดได้ คุณจำเป็นจะต้องตีกรอบเอาไว้และอย่าปล่อยให้ตัวเองถูกบงการ ลูกไม่ได้เลือกที่จะมาเกิดเอง

15.

“คนเขาจะพูดยังไงกัน ?” “ทุกคนในเมืองนี้รู้จักฉันนะ แล้วฉันจะมองหน้าพวกเขายังไงล่ะ ?” นี่คือสิ่งที่คนเห็นแก่ตัวที่สนใจแค่การถูกยอมรับมากกว่าความรู้สึกของลูกมักจะพูดกัน พวกเขาต้องการความสมบูรณ์แบบจนไม่มีเวลาให้กับเรื่องอื่น คุณคิดว่าคนเราอยากจะสานสัมพันธ์กับพ่อแม่ที่ไม่ยอมรับในตัวของพวกเขาเหรอ ? คำตอบมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว

คุณเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับตัวคุณแย่ลงบ้างไหม ? คำพูดไหนที่คุณไม่มีทางจะพูดกับลูกของตัวเอง ?

แชร์บทความนี้