เราควรทำอย่างไรหากสัตว์เลี้ยงของเรามีอะไรติดคอจนหายใจไม่ออก
เจ้าสัตว์เลี้ยงตัวน้อยพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเราเลยก็ว่าได้ แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้วิธีการช่วยเหลือพวกมันในกรณีฉุกเฉิน ยกตัวอย่างเช่น หากจู่ ๆ สัตว์เลี้ยงของเราเกิดอาการแพ้ขึ้นมาล่ะจะทำยังไง ซึ่งอาการนี้สามารถทำให้ลำคอของมันบวมจนทำให้มันหายใจไม่ออกได้เลยนะ หรือหากมีจุกไม้ก๊อกถูกทิ้งไว้บนพื้น เจ้าเพื่อนแสนซนขนฟูของเราอาจมาเจอเข้าและกลืนมันลงไปจนติดหลอดลมได้ ดังนั้นด้วยความที่พวกมันเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ของเรามาโดยตลอด พวกมันจึงสมควรที่จะได้รับแผนการเตรียมมือและการดูแลที่ดีที่สุด หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอันโชคร้ายเกิดขึ้น มาเตรียมตัวช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงของเรากันดีกว่า
ชีวิตสดใสอยากช่วยให้คุณสามารถดูแลเพื่อนรักที่ดีที่สุดของคุณให้ได้อย่างดี เราเลยลองไปค้นหาคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ และนี่คือสิ่งที่เราค้นพบ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้าตัวน้อยของเรามีอะไรอุดหลอดลมอยู่

ถ้าเจ้าหมาน้อยหรือแมวน้อยของคุณมีอะไรติดคอ พวกมันน่าจะแสดงอาการต่าง ๆ ที่เราทำรายการไว้ให้ด้านล่างนี้ การที่เรียนรู้อาการเหล่านี้ไว้แต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คุณรู้ตัวได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสัตว์เลี้ยงของคุณ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ดังนั้นเราจึงอยากให้คุณค่อย ๆ อ่านอย่างตั้งใจ เพราะมันสำคัญมาก ๆ
- ตื่นตระหนก
- เกาหรือถูบริเวณปาก หรือไถหน้าหรือปากลงไปกับพื้น
- น้ำลายไหล
- มีท่าทีสำลักหรือพยายามสำรอกออกมา
- ไอ
- หายใจลำบาก
- จมูกและลิ้นกลายเป็นสีน้ำเงิน
ในหลาย ๆ กรณีเมื่อเจอเหตุการณ์เหล่านี้ คุณจำเป็นต้องรีบลงมือช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อย่ารอจนกว่าจะไปถึงมือหมอ เพราะสิ่งนี้อาจทำให้เจ้าพวกตัวน้อยถึงแก่ชีวิตได้เลย
ขั้นที่ 1: พยายามเอาสิ่งที่อุดกั้นทางเดินหายใจของเจ้าตัวน้อยออกไปให้ได้

คุณต้องแน่ใจก่อนว่าสัตว์เลี้ยงของคุณนั้นควบคุมได้ สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในภาวะขาดอากาศหายใจนั้นมักจะดิ้นทุรนทุรายด้วยความทรมาน ให้พยายามขอความช่วยเหลือจากสมาชิกครอบครัว เพื่อน หรือคนข้างบ้านให้มาช่วยจับเจ้าตัวน้อยไว้ให้อยู่นิ่ง ๆ
ดึงลิ้นของสัตว์เลี้ยงของคุณออกมาและดึงหลบไปข้างหนึ่งและเปิดปากของมันให้กว้างมากที่สุด จับลิ้นเบี่ยงไปหากลิ้นนั้นกลับไปยังตำแหน่งตามธรรมชาติที่กลางปาก บางครั้งแค่เพียงทำแบบนี้คุณก็จะสามารถล้วงเอาสิ่งที่อุดกั้นทางเดินหายใจออกมาได้แล้ว ใช้นิ้วของคุณกวาดล้วงโคนลิ้นของมันจากด้านข้างมายังตรงกลาง แต่ระวังนะ อย่าดันสิ่งของนั้นลึกเข้าไปในคอมากกว่าเดิม หากคุณเห็นหรือสัมผัสได้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ให้ค่อย ๆ ใช้นิ้วหรือแหนบคีบออกมา
ขั้นที่ 2: ถ้าคุณไม่สามารถเอาสิ่งแปลกปลอมออกมาได้ ให้ทำการปฐมพยาบาลไฮม์ลิคช์ (การรัดกระตุกอก)

หากคุณหาสิ่งแปลกปลอมไม่พบ หรือเห็นว่ามันไม่มีอาการดีขึ้น เตรียมตัวที่จะลงมือทำการปฐมพยาบาลไฮม์ลิคช์ (Heimlich maneuver) หรือก็คือปฐมพยาบาลแบบรัดกระตุกอกให้สัตว์เลี้ยงของคุณได้เลย โดยการยืนขึ้น ถึงแม้ว่าทางกายวิภาคของเจ้าเพื่อนตัวน้อยของพวกเรานั้นจะแตกต่างจากมนุษย์ แต่หลักการของเทคนิคนั้นยังคงเอามาใช้ได้เช่นเดิม ขึ้นอยู่กับขนาดตัวของน้อง สัตว์เลี้ยงที่ขนาดตัวแตกต่างกันก็ต้องปฐมพยาบาลด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป
หากสุนัขของคุณเป็นสายพันธุ์ตัวเล็ก ๆ หรือหากคุณเลี้ยงเจ้าแมวเหมียว ให้อุ้มมันโดยที่ให้แผ่นหลังของมันแนบอยู่กับหน้าอกของคุณ ปล่อยอุ้งเท้าสี่ข้างของพวกมันให้ห้อยต่องแต่งตามธรรมชาติได้ คลำหาจุดที่กลวง ๆ ที่ควรจะอยู่บริเวณใต้ซี่โครง ที่บริเวณผนังทรวงอกของมัน กำหมัดแล้วใช้ข้อนิ้วโป้งนั้นดันเข้าไปในจุดกลวง ๆ ตรงนี้ งัดขึ้นเข้าหาช่องท้องของมันประมาณ 3 ครั้ง การทำแบบนี้จะทำให้สัตว์เลี้ยงตัวน้อยของคุณสามารถพ่นวัตถุแปลกปลอมนั้นออกมาได้

อย่างไรก็ตาม หากสัตว์เลี้ยงของคุณตัวใหญ่เกินกว่าที่คุณจะอุ้มไหว คุณต้องใช้เทคนิคที่ต่างออกไป แต่ยังคงใช้หลักการเดียวกันเช่นเคย ให้มันนอนตะแคงข้างและคุกเข่าข้างหลังตัวมัน กำหมัดและดันข้อนิ้วโป้งเข้าไปที่จุดกลวงในผนังทรวงอกและออกแรงดันเข้าไปข้างในและดันขึ้นไปทางศีรษะสัตว์เลี้ยงของคุณ การทำแบบนี้จะทำให้สัตว์เลี้ยงตัวน้อยของคุณสามารถพ่นวัตถุแปลกปลอมนั้นออกมาได้
ขั้นที่ 3: หากวิธีการข้างต้นไม่มีวิธีใดได้ผล ให้ทำซีพีอาร์ (การปั๊มหัวใจ)

หากสัตว์เลี้ยงตัวน้อยของคุณหมดสติหรือหยุดหายใจไป ทางเลือกที่ดีที่สุดของคุณตอนนี้คือให้เริ่มทำการปั๊มหัวใจหรือซีพีอาร์ (CPR) ซึ่งเหมือนกับการปฐมพยาบาลไฮม์ลิคช์ การปั๊มหัวใจนี้ขึ้นอยู่กับขนาดตัวของสัตว์เลี้ยงคุณเป็นหลัก:
หากคุณเลี้ยงแมวหรือสุนัขตัวเล็ก ๆ ให้มันนอนหันข้างบนพื้นที่ราบเรียบ ยืดลำคอน้อง และปิดปากน้องไว้ หายใจเข้าลึก ๆ และเป่าลมออกจากปากของคุณเข้าสู่จมูกของสัตว์เลี้ยงตัวน้อยของคุณ โดยใช้มือทั้งสองของคุณจับไว้เพื่อไม่ให้อากาศที่เป่าเข้าไปไหลออกมาทางด้านข้าง ทำเช่นนี้ 3 ครั้งและปั๊มหัวใจโดยการกดหน้าอก 100 — 120 ครั้ง โดยให้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของคุณอยู่ในบริเวณใต้ศอกของขาด้านบนที่อยู่ใกล้ตัวคุณที่สุด ให้ทำการเป่าลมเข้าไปในจมูกทุก ๆ การปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง

หากสุนัขของคุณตัวหนักมาก แทนที่คุณจะปั๊มหัวใจบริเวณใต้ขาของมัน ให้ทำที่บริเวณช่องท้องแทน โดยวางฝ่ามือหนึ่งไว้บนตัวโดยใช้อีกฝ่ามือประกบไว้ด้านบน เหยียดแขนให้ตึงและกดลงไปแรง ๆ
หากหน้าอกของมันขยายขึ้นแสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว ให้ทำซ้ำ ๆ จนกว่าคุณจะสัมผัสได้ถึงการเต้นของหัวใจ คุณสามารถวางนิ้วไปที่บริเวณระหว่างต้นขาและลำตัวของมัน (ใต้รักแร้) เพื่อสังเกตชีพจรบริเวณนี้ได้ ซึ่งเหมือนกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่าลืมเป่าจมูกช่วยหายใจทุก ๆ การปั๊มหัวใจ 30 ครั้ง
การป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงของคุณมีสิ่งแปลกปลอมติดหลอดลม

ถึงแม้การได้รู้วิธีรับมือกับเหตุฉุกเฉินจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่การรักษาที่ดีที่สุดในกรณีนี้ก็ยังคงเป็นการป้องกันอยู่ดี การใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของเจ้าเพื่อนตัวน้อยสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ขึ้นมาได้ และนี่คือข้อแนะนำในการจัดการให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวสัตว์เลี้ยงเพื่อนยากของเรากลายเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับมัน
- คุณต้องแน่ใจว่าอาหารของน้องไม่ได้มีชิ้นใหญ่เกินไปสำหรับปากของพวกมัน
- คุณต้องแน่ใจว่าของเล่นและกระดูกที่พวกมันกัดเล่นจะไม่สามารถเข้าไปในปากได้ทั้งชิ้น หรือต้องแน่ใจว่าจะไม่มีเศษชิ้นส่วนใด ๆ ที่สามารถหลุดออกและอาจเป็นอันตรายหลุดลงหลอดลมของสัตว์เลี้ยงของคุณได้
- ปิดฝาถังขยะของคุณให้แน่นหนาอยู่เสมอ
- เก็บสิ่งของที่สัตว์เลี้ยงสามารถเอาเข้าปากได้ทั้งชิ้นไม่ให้อยู่ในระยะที่เจ้าตัวน้อยสามารถหยิบมากลืนกินได้ ซึ่งรวมถึงหีบห่อ ตลอดจนกล่องใส่วัตถุต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย
- เมื่อพาสัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณออกไปเดินเล่นนอกบ้าน ให้พยายามสอดส่ายสายตาระมัดระวังวัตถุแปลกปลอมต่าง ๆ อยู่เสมอ เรามักพบเห็นวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ตกอยู่บริเวณถนนหรือในสวนสาธารณะต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ระวังวัตถุจำพวกฝาขวด เป็นต้น ซึ่งวัตถุเหล่านี้สามารถเป็นภัยคุกคามต่อสวัสดิภาพของเจ้าสัตว์เลี้ยงตัวน้อยได้เลย
เจ้าเพื่อนตัวน้อยของคุณเคยทำให้คุณกลัวที่มันไปกินของที่ไม่ควรกินหรือไม่ ? สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกขอบคุณที่สุดที่มีเพื่อนตัวน้อยของคุณอยู่ข้างกายคืออะไร ? หากคุณมีเคล็ดลับอื่น ๆ ที่คุณคิดว่าสามารถป้องกันไม่ให้เจ้าสัตว์เลี้ยงตัวน้อยต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายได้ คุณสามารถแนะนำเรามาได้เสมอ